นางสาว ญาณธิชา บัวเผื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 3 จังหวัดจันทบุรี พรรคก้าวไกล เผยว่า สืบเนื่องจากประเด็นที่มีการสั่งย้ายนายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เข้าไปทำงานในกรมวิชาการเกษตรในตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและมาตรฐานสินค้าพืช ซึ่งเป็นการย้ายนอกฤดูกาลและไม่ได้มีการแจ้งให้เจ้าตัวทราบมาก่อน
จากกรณีนี้ทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ทั้งชาวสวนทุเรียน ชาวสวนมังคุดและชาวสวนลำไยต่างพากันเป็นกังวลและตั้งคำถามถึงสาเหตุการโยกย้ายครั้งนี้ว่าย้ายเพราะสาเหตุอะไร มีเบื้องลึกเบื้องหลัง มีเรื่องเกี่ยวกับการขัดแย้งหรือไปขัดผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดหรือไม่ เพราะการทำงานอย่างเอาจริงเอาจังของผอ. ชลธี ในการควบคุมคุณภาพทุเรียนและการตรวจจับทุเรียนอ่อนเข้มงวดทำให้การซื้อขายทุเรียนอ่อนหรือด้อยคุณภาพทำได้ยากขึ้น อาจทำให้คนบางกลุ่มเสียผลประโยชน์
เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา ผอ. ชลธีเคยนำทีมเล็บเหยี่ยวตรวจจับล้งที่รับซื้อทุเรียนอ่อนแห่งหนึ่งใน จ. จันทบุรีสร้างความไม่พอใจให้กับล้ง จนมีการนำรถยนต์มาจอดขวาง ปิดทางเข้าออกพร้อมกับปิดประตูด้านหน้าล้ง จนต้องขอกำลังเสริมไปยังหน่วยงานความมั่นคงและฝ่ายปกครองในพื้นที่ให้เข้ามาช่วย นอกจากนี้ตัวแทนของล้ง ยังได้มีการอ้างด้วยว่าตนเองเป็นที่ปรึกษาของคนใหญ่คนโตในกระทรวงเกษตรฯ ข่าวนี้เป็นข่าวดังในพื้นที่เป็นอย่างมาก
จากการทำงานอย่างมุ่งมั่นตั้งใจของผอ.ชลธีและทีมงานเล็บเหยี่ยวในการควบคุมคุณภาพทุเรียน ไม่ให้มีทุเรียนอ่อนและทุเรียนด้อยคุณภาพส่งไปขายยังต่างประเทศ ทำให้สองปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ลูกค้าชาวจีนต่างก็ให้การยอมรับว่าทุเรียนไทยเป็นทุเรียนที่อร่อยและมีคุณภาพ ส่งผลให้ผอ.ชลธี ได้รับการยอมรับและไว้ใจจากเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ ถึงขั้นได้รับฉายาว่า “มือปราบทุเรียนอ่อน” และกำลังเริ่มขยายการทำงานมาช่วยควบคุมคุณภาพของลำไยต่อด้วย
เกษตรกรในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับการสั่งย้ายในครั้งนี้กันเป็นจำนวนมากในวันที่ 25 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อเป็นกำลังใจและแสดงเจตจำนงว่าไม่เห็นด้วยมากกว่า 500 คน ที่สำนักงาน สวพ.6 และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสมาคมทุเรียนไทยก็ได้มีการยื่นหนังสือสอบถามถึงกรณีนี้กับกระทรวงเกษตรฯ ด้วย
กลุ่มชาวสวนต่างพากันเป็นกังวลว่าท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันการส่งออกทุเรียนที่ร้อนแรงแบบนี้ และประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ผูกขาดการส่งออกทุเรียนไปจีนอีกต่อไปแล้ว ผลผลิตทุเรียนก็เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตถึง 1,000,000 ตันและในตอนนี้ทุเรียนก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวสำคัญมีมูลค่าการส่งออกเป็น 100,000 ล้านบาทต่อปี หากเราไม่ได้คนที่ทำงานอย่างมุ่งมั่นตั้งใจมีความตรงไปตรงมาและเข้าใจบริบทการทำงานเรื่องนี้อย่างแท้จริงแล้วสถานการณ์การส่งออกผลไม้ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด ลำไยของเราจะเป็นอย่างไร
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในภาคตะวันออก ดิฉันจึงขอเป็นตัวแทนชาวสวนผลไม้ขอให้ผู้มีอำนาจทบทวนการสั่งโยกย้ายในครั้งนี้อีกครั้ง จึงขอปรึกษาหารือไปยังกรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์