แหล่งข่าววงการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากผลพวงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยรวมสูงขึ้น ราคา 11.95-12.15 บาท/กิโลกรัมในช่วงนี้ มีโรงสี หันมาค้าข้าวโพดก็นำวัฒนธรรมค่าเหยียบเบรกมาใช้ โดยให้ตันละ 100 บาท ทำให้เกษตรกรไม่ขวยขวายที่จะนำวัตถุดิบไปขายด้วยตนเอง แล้วปัญหาเก็บข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก่อนสุกแก่ของเกษตรกรนับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น
เกษตรกรหลายรายกลัวว่าเมื่อข้าวโพดเริ่มเห็นฝักที่ใหญ่แล้ว ถ้าไม่เร่งเก็บเกี่ยวกลัวข้าวโพดจะหาย เพราะเจอพวกเพลี้ยกระสอบ (พวกขโมยหักข้าวโพดฯในไร่ไปขาย) กลัวลิง กลัวล้ม บางรายต้องการเร่งใช้เงิน กลัวไม่มีรถเกี่ยวสารพัดที่จะกลัว จึงเร่งเก็บเกี่ยวขณะที่ข้าวโพดฯ ยังสะสมธาตุอาหาร สะสมน้ำหนักไม่เต็มที่ มีผลทำให้สูญเสียผลผลิตแห้งต่อไร่ 10-20 % จากที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)พยากรณ์ประมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2565 จำนวน 4.95 ล้านตัน
ถ้าผู้ปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่ เก็บเกี่ยวข้าวโพดฯ ช่วงสดอ่อนอาจทำให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศสูญเสียไปได้ถึงกว่า 500,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 6,150 ล้านบาท ยังไม่รวมไปถึงค่าใช้จ่ายแฝงพลังงานที่เป็นค่าใช้จ่ายในการอบลดความชื้นที่นานขึ้น ค่าขนส่งที่สูงขึ้น คุณค่าโภชนาการอาหารในเมล็ดข้าวโพดฯที่ลดลง
สำหรับสภาวะการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยในแต่ละพื้นที่ มีการแข่งขันกันมากขึ้น พ่อค้าข้าวโพดฯ เลี้ยงสัตว์บางรายไปเหมาซื้อคาต้นถึงในไร่ทั้งที่ข้าวโพดฯ ยังไม่ได้อายุ ประกอบกับสภาวะวัตถุดิบทดแทนในตลาดโลกราคาสูง โรงงานอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ต้องหันมาพึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่และบริษัทในเครือเข้าไปตั้งจุดรับซื้อในพื้นที่เพิ่มหลายแห่งมากยิ่งขึ้น โดยผู้ซื้อแต่ละรายเข้าไปแข่งแย่งกันซื้อจนแทบไม่มีผู้ซื้อรายใดสนใจคุณภาพ ถ้าไม่มีการแก้ไข ภาครัฐไม่เข้ามามีบทบาทเหมือนทุเรียนอ่อน อนาคตคุณภาพผลผลิตภาพรวมของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยยิ่งด้อยลงจากการเก็บเกี่ยวสดอ่อน
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า เมื่อผลผลิตข้าวโพดในภาพรวมทั้งประเทศยิ่งน้อยลง ยิ่งอาจเป็นข้ออ้าง “เพราะข้าวโพดฯไทย ไม่พอใช้ต้องขอนำเข้าวัตถุดิบทดแทนจากประเทศอื่นมาใช้แทนมากขึ้น” ซึ่งมีผลต่อราคาข้าวโพดฯไทยให้ถูกลง คุณภาพธาตุอาหารในเมล็ดข้าวโพดฯลดลง มีผลกระทบต่อห่วงโซ่การเลี้ยงสัตว์ทั้งวงจร มีผลต่อคุณภาพอาหารสัตว์ และการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ
นอกจากนี้คุณภาพธาตุอาหารในเมล็ดข้าวโพดฯ ลดลง อาจเป็นข้ออ้างว่า “เพราะคุณภาพข้าวโพดฯไทยต่ำ ต้องขอนำเข้าวัตถุดิบทดแทนที่คุณภาพดีกว่าเข้ามาใช้ทดแทนมากขึ้น” ยิ่งมีโอกาสทำให้ราคาข้าวโพดฯ ไทยราคาตกลงได้ และเสี่ยงต่อการปฏิเสธการรับซื้อเมล็ดข้าวโพดฯ ที่คุณภาพต่ำ คุณค่าโภชนาการต่ำจากผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้ ถึงเวลานั้นข้าวโพดที่คุณค่าต่ำยิ่งตกต่ำเปรียบเทียบน้ำหนักข้าวโพดหลังแห้ง 14.5%
ส่วนสถานการณ์ตลาดชิคาโก หรือ Chicago Mercantile Exchang (CME) และ Chicago Board of Trade (CBOT) รายงาน ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอย่างหนัก ทำให้สินค้าเกษตรมีราคาแพงกว่าทุกตลาดบวกกับข้อมูล รายงาน อุปสงค์สินค้าเกษตรทั่วโลก (WASDE) ที่เผยแพร่ออกมาผลผลิตข้าวโพด ถั่วเหลืองของสหรัฐได้เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วทั้งยอดขายส่งออกในสัปดาห์ที่แล้วสิ้นสุด ณ วันที่ 3 พ.ย.ต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าทุกตัว กระตุ้นให้นักลงทุนเทขายออกทำกำไรและปรับสถานะการลงทุน, ชณะที่ฝนตกในภาคกลางเพิ่มขึ้นพร้อมๆกับอากาศที่เย็นลง และจะมีหิมะตกตามมาในปลายเดือน
ข้าวโพด: สัญญายังร่วงลงสู่แดนลบด้วยยังกังวลต่อผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากผลผลิตต่อไที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.750 กก/ไร่ และการขายส่งออกที่ลดลงจากราคาที่แพงขึ้นตลอดสัปดาห์ที่แล้วด้วยค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า อีกทั้งเม็กซิโกห้ามนำเข้า GMO yellow corn ของสหรัฐ อย่างไรก็ตามวันนี้เม็กซิโกซื้อข้าวโพด 8.3 ล้านบูชเชล ส่งมอบในปี 2022/23 นี้, แม้จะมีข่าวดีที่ผลผลิตของ EU และ S Africa ลดลงก็ตาม, ยอดขายส่งออกในสัปดาห์ที่แล้วลดลง 29% จากสัปดาห์ก่อนหน้าสู่ระดับ 265,300 ตัน
ถั่วเหลือง: สัญญาพลิกปิดลบทั้งทุกเดือนที่ส่งมอบ ด้วยแรงกดดันจากผลผลิตรวมสหรัฐที่เพิ่มจากผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ มากกว่าที่คาดเอาไว้สู่ระดั บ 50.2 bpa.หรือ 546 กิโลกรัม/ไร่ และพบว่ายอดขายส่งออกในสัปดาห์ที่แล้วลดลง 4.5% จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 794,800 ตัน โดยจีนซื้อมากสุด ตามด้วยญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ และตุรกี อย่างไรก็ตามสัญญาน้ำมันถั่วเหลืองยังขยับขึ้นปิดบวก ด้วยอุปทานพืชน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารตึงตัวทั่วโลก
“ข้าวสาลี” : สัญญาปิดร่วงลงสู่แดนลบต่อและราคาปิดเป็นราคาระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน หลังจากยออดขายส่งออกในสัปดาห์ที่แล้วลดลง7.5% จากสัปดาห์ก่อนหน้าสู่ระดับ 322,500 ตัน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เม็กซิโก เอกวาดอร์ และโคลัมเบีย คือจุดหมายปลายทาง 5 อันดับแรก, นักลงทุนยังมีมุมมองที่ดีกับตลาดข้าวสาลีในตลาดโลกในแง่ดี ด้วยอุปทานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการใช้ข้าวสาลีเป็น feed wheat จากราคาเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และ winter wheat ของสหรัฐที่ปลูกใกล้จะแล้วเสร็จในขณะนี้กำลังประสบภัยแล้งในพื้นที่ปลูกที่มีผลให้คุณภาพของต้นดีถึงดีเยี่ยมต่ำกว่าระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา, อีกทั้งอาร์เจนตินายังคงเผชิญกับภัยแล้งอย่างหนัก และนักวิเคราะห์ออกมาคาดการณ์ว่า ประเทศนี้จะได้ผลผลิตข้าวสาลีต่ำสุดนับแต่ปี 201 5/16 เป็นต้นมา (อาร์เจนตินาส่งออกเมล็ดถั่วเหลืองเป็นอันดับที่ 3, ส่งออกกากถั่วเป็นลำดับที่ 1, ส่งออกข้าวสาลีเป็นอันดับที่ 5 และส่งออกข้าวโพดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก)