ชาวไร่ข้าวโพดเฮ “เครือซีพี” ซื้อสูงสุด โลละ 12.65 บาท

10 มี.ค. 2565 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มี.ค. 2565 | 21:33 น.

วิกฤติรัสเซีย-ยูเครนป่วนวัตถุดิบอาหารสัตว์ไทย ชาวไร่เฮ เครือซีพี แจ้งปรับราคารับซื้อข้าวโพด 4 รอบในวันเดียว พุ่งโลละ 12.65 บาท พ่อค้าผวา ซื้อตามหวั่นราคารูดเสี่ยงขาดทุนยับ นายกฯถั่วเหลือง เชียร์ลดภาษี 0% ช่วย รง.อาหารสัตว์ ด้าน“สภาเกษตรกร”ค้านหัวชนฝา ยกเลิกมาตรการ 3:1

โลกป่วนหลังประธานาธิบดีวลาดิมีร์ปูติน ของรัสเซีย สั่งปฏิบัติการทางทหารบุกยึดยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา และเหตุการณ์ยังยืดเยื้อ ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ซัพพลายในตลาดหายไป เฉพาะอย่างยิ่งผลผลิต “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ที่เกษตรกรชาวยูเครนพะวงกับภาวะสงครามกระทบกับการลงมือเพาะปลูกข้าวโพดฤดูกาลใหม่ 2022/23  ขณะที่ “ข้าวสาลี” ขยับราคาทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยท่าเรือทุกแห่งของยูเครนถูกรัสเซียยึดครอง

 

ขณะที่รัสเซียไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าผ่านระบบธนาคารของโลกได้ หลังถูกชาติตะวันตกตัดออกจากระบบ SWIFT ส่วนข้าวสาลีของแคนาดา อาร์เจนตินา บราซิล ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ถั่วเหลืองสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปิดตัวลงในแดนลบจากข่าวฝนตกหนักในบราซิล และอาร์เจนตินา

 

แหล่งข่าวจากวงการค้าพืชไร่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ในเครือซีพี (ผู้รับซื้อข้าวโพดรายใหญ่) ได้แจ้งปรับขึ้นราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในหลายพื้นที่ราคาสูงสุดที่ 12.65 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ถือเป็นราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์  (กราฟิกประกอบ)  ส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด โดยข้าวโพดดังกล่าวเป็นข้าวโพดหลังนาต้นฤดู ที่กำลังจะทยอยเก็บเกี่ยว ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินจะมีผลผลิตประมาณ 6-7 แสนตัน มากกว่าปีที่แล้ว

 

แจ้งปรับราคาขึ้น 4  รอบ ณ วันที่ 7 มีนาคม 2565

 

จากราคารับซื้อข้าวโพดที่สูงขึ้น ทำให้พ่อค้าไม่กล้าที่จะไปรับซื้อข้าวโพดจากชาวไร่มากนัก เพราะหากซื้อในราคาดังกล่าว เกิดราคากระชากลง ก็จะขาดทุน ซึ่งการปรับขึ้นราคาแบบนี้ทำให้ผู้เลี้ยงภาคปศุสัตว์รายเล็กรายน้อยได้รับความเสียหาย ต้องซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาแพงกว่าเดิม จากเดิมก็ขาดแคลนวัตถุดิบ และซื้อราคาสูงอยู่แล้วจากมีผู้ค้ากักตุนวัตถุดิบ (เพื่อหวังขายราคาสูง) 

 

ทั้งนี้การขึ้นราคาข้าวโพดควรดำเนินการแบบมีระยะเวลาให้ผู้ค้าได้บริหารสต๊อกเก่าออกไปก่อน แล้วค่อยซื้อเข้าใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุนด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหากับผู้ค้าวัตถุดิบและผู้ใช้วัตถุดิบในภาคปศุสัตว์ตามมา

 

 “การปรับขึ้นราคาวันละ 4 รอบแบบนี้ สร้างความเสียหายต่อพ่อค้าและเกษตรกรในระยาว ไม่มีหลักประกันความมั่นคง หากอีก 2-3 วันนับจากนี้ ถ้าราคาลงจะทำอย่างไร”

 

สืบวงค์ สุขะมงคล

 

ด้าน ดร. สืบวงษ์ สุขะมงคล นายกสมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ กล่าวว่า จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้มีต้นทุนเพิ่ม รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น จากอาหารสัตว์ มีส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ ข้าวโพด จากเมืองไทยมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ จึงได้นำเข้าข้าวสาลีมาทดแทน ส่วนใหญ่ไทยนำเข้าจากยูเครนที่เวลานี้ส่งของให้ไม่ได้จากภาวะสงคราม จะมีเรือที่ไหนกล้าไปรับสินค้า รวมถึงการชำระเงินก็มีปัญหา อีกส่วนหนึ่งมาจากออสเตรเลียต้นทุนการขนส่งก็แพงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

ส่วนกากถั่วเหลืองมีปัญหาซับซ้อน นอกจากค่าขนส่งที่แพงแล้ว ยังเกิดภัยแล้งในแหล่งผลิตสำคัญ ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยรวมต้นทุนนำเข้า 21 บาท ต่อ กก. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หากนำเข้าใหม่จะสูงกว่านี้ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับภาระมาก ดังนั้นหากรัฐบาลมีการลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็น 0% จากปัจจุบันเก็บ 2% เห็นด้วยตามที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเสนอ เพราะจะทำให้ต้นทุนลดลง

 

เติมศักดิ์ บุญชื่น

 

นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะทำงานด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรรมการคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีโดยต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนก่อนนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนเพื่อช่วยเหลือโรงงานอาหารสัตว์ จากข้าวสาลีราคาแพงกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศจะมายกเลิกทำไม 

 

 “การยกเลิกมาตรการ 3 : 1 จะกระทบเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในอนาคต จะมาอ้างว่าได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤติโควิด คนอื่นก็กระทบกันทั่วโลก ไม่ใช่ไทยประเทศเดียว ส่วนจะขอนำเข้าข้าวโพดเพื่อนบ้าน ตอนนี้ก็นำเข้าอยู่แล้ว (ช่วงเวลานำเข้า 1 ก.พ.-31 ส.ค.) จะเดือดร้อนอะไร แล้วหากจะไปลดภาษีกากถั่วเหลือง ต้องถามผู้บริโภคจะรับภาระไหวหรือไม่ หากราคาน้ำมันขวด 1 ลิตรราคา 70-80 บาท ปัจจุบันโรงกลั่นแบกต้นทุนไว้ 60 บาทต่อขวดแล้ว” นายเติมศักดิ์ กล่าว

 

โลตัส วังหิน

 

ผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สำรวจโมเดิร์นเทรด โลตัส-บิ๊กซี ณ วันที่ 5 มีนาคม 2565 ในเชลฟ์วางขายน้ำมันพืชถั่วเหลืองระบุขวดละ 60 บาท แต่ของเกลี้ยงเชลฟ์ไม่มีวางจำหน่าย ส่วนน้ำมันปาล์ม ราคาขวด 1 ลิตร ส่วนใหญ่ขายที่ขวดลิตรละ 62 บาท ยังมีสินค้าเหลืออยู่หลายยี่ห้อ อาทิ ทับทิม, โอลีน, เกสร, หยก และมรกต เป็นต้น แต่มีการจำกัดการขาย ครอบครัวละไม่เกิน 3 ขวดต่อ 1 ใบเสร็จ

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,764 วันที่ 10-12 มีนาคม  พ.ศ. 2565