แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ (วันที่ 1 เม.ย. 65) จากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ และสินค้าที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้การแก้ไขและผ่อนคลายปัญหาราคาสินค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นไปด้วยความรอบคอบ รัดกุม สามารถบรรเทาภาระด้านต้นทุนของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนโดยมุ่งเน้นประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ จึงกำหนดให้มีการประชุมหารือร่วม 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเกษตรกร ภาคปศุสัตว์ และภาคผู้ประกอบการ นั้น
"ผลสรุปเว้นมาตรการ 3:1 ชั่วคราว ระหว่างเดือนเมษายน –วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ให้นำเข้าได้ จำนวน 1.5 ล้านตัน ที่สามารถนำเข้าได้ มี 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวสาลี บาเลย์ และข้าวโพด ทั้งหมด ทุกช่องทาง โดยราคาอาหารสัตว์ต้องไม่ขยับขึ้น"
แต่หากปริมาณยังไม่เพียงพอ สามารถปรับปรุงตัวเลขได้ บนพื้นฐานข้อมูลที่ชัดเจน คณะทำงาน 4 ฝ่าย (ผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยง ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ) ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนสมาคมการค้าพืชไร่ ) หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) นับว่าเป็นข่าวดีของโรงงานอาหารสัตว์
อย่างไรก็ดี จะต้องนำเข้าที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) สุดท้ายก็ต้องผ่านที่ประชุม ครม. เห็นชอบในขั้นตอนสุดท้าย ผู้ประกอบการถึงจะนำเข้าได้ตามมติ
อนึ่ง เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 กรมการค้าภายใน โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้รับข้อเสนอจากผู้ประกอบการภาคเอกชน ในนามสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย แนวทางในการลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งมีราคาปรับสูงมาก โดยมี ข้อเสนอ 3 ประการ ดังนี้
1.การนำเสนอลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง จาก 2% ให้เหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์
2.การผ่อนปรนหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการอนุญาตให้นำเข้าเข้าสาลีเข้ามาในราชอาณาจักร สัดส่วน 3:1
3. ข้อเสนอผ่อนปรนเรื่องระยะเวลานำภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)เข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันกำหนดนำเข้า 1 ก.พ.-31 สิงหาคม ในการนำเข้าแต่ละปี เป็นการนำเข้าตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ให้ข้อมูลกับกระทรวงพาณิชย์ว่า เปรียบเทียบวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารสัตว์จากปี 2563 กับปี2564 มูลค่ามากกว่า 20-25%