ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ระบุว่า ทำไม 161 ประเทศ ทั่วโลกยังใช้อยู่ “ไกลโฟเซต” หลังจากสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติได้จัดไกลโฟเซตให้อยู่กลุ่มสารที่อาจจะก่อมะเร็งในคน เมื่อปีก่อน 2558 ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศให้ความสนใจในเรื่องนี้และ NGO ทั่วโลกเสนอให้แบนไกลโฟเซต มีคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทไบเออร์ (หลังจาก บ. ไบเออร์ซื้อ บ. มอนซานโต้) ว่าไกลโฟเซตทำให้เกิดมะเร็งเกิดขึ้นมากมายในสหรัฐอเมริกา ที่ศาลรับฟ้องแล้วมากกว่า หนึ่งร้อยคดี และอยู่ในระหว่างการยื่นฟ้องอีกประมาณหนึ่งแสนคดี
แต่สหรัฐอเมริกายังอนุญาตให้ใช้ไกลโฟเซต ทั้งๆที่มีคดีฟ้องร้องจำนวนมาก บริษัทไบเออร์แพ้คดีต้องจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ฟ้อง ไปแล้ว 3 คดี ในเวลาต่อมา ไบเออร์ชนะไปแล้ว 6 คดี เพราะศาลยึดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่หน่วยงานด้านความปลอดภัยทั่วโลก 16 แห่งรวมถึง US EPA ได้ประเมินข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ "ที่น่าเชื่อถือ" และสรุปว่า ไกลโฟเซตไม่ใช่สารก่อมะเร็งในคน ล่าสุด บริษัทไบเออร์จากยกเลิกการขายไกลโฟเซตเฉพาะในบ้านเรือน (household use) แต่ยังขายให้ภาคเกษตร (Agricultural Use) เพราะคดีฟ้องร้องส่วนใหญ่มากกว่า 90% ไม่ใช่เกษตรกร
ปี 2565 ประเทศไหนแบนไกลโฟเซต พบว่ามี9 ประเทศที่แบนไกลโฟเซต ในทวีปอเมริกา 2 ประเทศ ตะวันออกกลาง 6 ประเทศ และ ทวีปเอเซีย มี ประเทศเดียวคือเวียดนาม แต่ประเทศที่ยังใช้อยู่อีก161 ประเทศ รวมทั้ง ประเทศไทยที่น่าสนใจคือประเทศเม็กซิโก ที่รัฐบาลเคยประกาศแบนไกลโฟเซตไปเมื่อปี 2563 แต่ในปี 2565 ศาลได้มีคำพิพากษา ให้ยกเลิกคำสั่งแบนไกลโฟเซตดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า "ยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ว่าไกลโฟเซตเป็นสารก่อมะเร็งในคน"
บราซิล.เป็นประเทศที่ส่งออกถั่วเหลืองอันดับ หนึ่งของโลก มีการปลูกถั่วเหลือง GMO และใช้ไกลโฟเซต และมีการยื่นเรื่องให้ศาลสั่งยกเลิกการใช้ไกลโฟเซต เพราะในปี 2558 สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติหรือ IARC ได้ออกมาเตือนว่า ไกลโฟเซต "อาจจะ" เป็นสารก่อมะเร็งในคน แต่ในปี 2561 ศาลได้มีคำพิพิพากษาไม่รับคำร้องและให้นำกลับไปทบทวนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน เพราะการแบนไกลโฟเซต และสารกำจัดศัตรูพืชอีก 2 ชนิด คือ อะบาเม็กติน และไทแรม จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับเศรษฐกิจและประชาชนของประเทศบราซิล
"ศรีลังกา"เคยแบนไกลโฟเซตไป 2 ครั้งและกลับมาประกาศยกเลิกแบน เพราะเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ส่วน อียูหรือสหภาพยุโรป ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการประเมินความปลอดภัยของไกลโฟเซตก่อนที่จะอนุญาตต่อทะเบียนไกลโฟเซตในเดือนธันวาคม 2565 นี้ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก 4 ประเทศ (ฝรั่งเศส ฮังการี เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน) สรุปผลในเดือน มิถุนายน 2565 ว่าไกลโฟเซต ไม่ใช่สารก่อมะเร็งในคน ซึ่ง ECHA จะได้นำรายงานนี้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่พิจารณาต่อไปในปี 2566 ดังนั้น ไกลโพ้น จึงยังใช้ได้ในสหภาพยุโรปจนกว่าจะมีมติเป็นทางการในปีหน้า
เป็นที่น่าสังเกตว่าทำไมหน่วยงานด้านความปลอดภัยชั้นนำทั่วโลก 16 แห่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลี บราซิล รวมถึง FAO และ WHO ต่างออกมาประเมินตรงกันว่า ไกลโฟเซตยังปลอดภัยต่อการใช้และไม่ใช่สารก่อมะเร็งในคน แต่จะมีหน่วยงานเดียวคือสถาบันมะเร็งนานาชาติซึ่งสถาบันนี้ไม่ได้ทำงานวิจัย แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แล้วนั่งพิจารณากันว่า ควรจัดสารเคมีตัวนั้นตัวนี้ ให้ไปอยู่กลุ่มไหน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม
กลุ่ม 1 คือสารก่อมะเร็ง
กลุ่ม 2A คือ สารที่อาจก่อมะเร็งในคน
กลุ่ม 2B คือ สารที่มีโอกาสก่อมะเร็งในคน
กลุ่ม 3 คือ สารที่ยังจัดกลุ่มไม่ได้ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง
ตัวเลข 16 : 1 น่าจะชัดเจนแล้วว่า ข้อมูลของสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ยังน่าเชื่อน่าเชื่อถือหรือไม่แปลกที่บรรดา NGO ทั่วโลก พยายามอ้างอิงและใช้ข้อมูลของสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ แต่กลับไม่สนใจข้อมูลของหน่วยงานด้านความปลอดภัย 16 หน่วยงานซึ่งมีความน่าเชื่อถือและมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้ใช้ไกลโฟเซตทั่วโลก ขายไอเดียโลกที่สวยงามเต็มไปด้วยผีเสื้อบินว่อนในท้องฟ้า แต่ลืมไปว่าก่อนจะเป็นผีเสื้อแสนสวย..ต้องเป็นหนอนกินต้นไม้ใบหญ้าไปเท่าไหร่
NGO ต้อต้านสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สนับสนุนให้ใช้ชีวภัณฑ์ อ้างว่าดีและปลอดภัย ถ้าชีวภัณฑ์มีจริง ดีจริง คุ้มจริง เกษตรกรทั่วโลกเลิกใช้สารเคมีไปนานแล้ว ไม่ต้องรอให้ NGO มารณรงค์ต่อต้าน และที่อยากถามกลับไปว่า ชีวภัณฑ์ปลอดภัย 100% จริงมั้ย?