อัพเดทความเคลื่อนไหวหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 กำหนดให้ “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 (คลิกอ่านข่าว) ส่วนไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากพบว่ายังมีการใช้ใน 160 ประเทศ ซึ่งเวลานี้จะครบ 4 ปีของการจำกัดการใช้ไกลโฟเซตแล้วนั้น
นายจารึก ศรีพุทธชาติ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดในปีนี้กรมวิชาการเกษตร ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณาอนุญาตให้มีการเปิดนำเข้าสารไกลโฟเสต (เป็นสารกำจัดวัชพืช) จำนวน 24,000 ตัน ซึ่งมีกว่า 60 บริษัท ได้รับการอนุญาตเพิ่มการนำเข้า จากปีที่แล้วนำเข้าเพียง 12,978 ตัน (กราฟิกประกอบ) ซึ่งในการจำกัดการใช้มีกฎหมายดูแล โดยคนที่จะใช้จะต้องทราบคุณและโทษทั้งร้านค้า ผู้ใช้ และผู้รับจ้างที่พ่นสารเคมี โดยพืชที่จะใช้สารนี้ ได้แก่ ข้าวโพด, อ้อย, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล
อย่างไรก็ดีมองว่าโควตานำเข้าไกลโฟเซต 24,000 ตันนี้ ไม่เพียงพอ เพราะสารนี้ราคาไม่แพง และเกษตรกรมีความต้องการใช้มาก โดยตัวเลขเดิมก่อนที่จะมีมาตรการจำกัดการใช้เคยนำเข้าสูงกว่า 6 หมื่นตัน ในปี 2557 ดังนั้นกำลังจะขอให้ทางกรมฯพิจารณาเพิ่มโควตานำเข้ามากขึ้น
“ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม เป็นช่วงฤดูกาลเพาะปลูก เกษตรกรมีความต้องการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น หากซัพพลายมีมาก คาดราคาจะไม่ปรับขึ้นมาก ก่อนหน้านี้มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ประเทศจีนมีการล็อกดาวน์ ทำให้ผู้ค้าไม่สามารถส่งไกลโฟเซตเข้ามาได้ ทำให้ต้องใช้กลูโฟซิเนตทดแทนอยู่พักใหญ่ แม้โดยประสิทธิภาพกลูโฟซิเนตจะไม่เหมือน ไกลโฟเซต แต่ช่วงนั้นความต้องการสูง ราคาก็สูงตามไปด้วย แต่ตอนนี้ราคาทั้งสองตัวมีแนวโน้มปรับลงมาแล้ว ถือเป็นโชคดีของเกษตรกร”
นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า ในวันที่ 11 เมษายน 2565 นี้จะมีการประชุมร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตรใน 2 เรื่องหลักคือ 1.การอบรมเกษตรกรเพิ่มเติมเรื่องการใช้สารไกลโฟเซต หลังจากที่ไม่ได้อบรมกันเลยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และ 2.พิจารณาการนำเข้าไกลโฟเซต รอบ 2 ของปี 2565 อีก 24,000 ตัน เพราะแม้จะมีการจำกัดการใช้ แต่ข้อเท็จจริงเกษตรกรมีความต้องการใช้มากกว่า 48,000 ตันต่อปี
ดังนั้นทางเครือข่ายฯจะทำข้อมูลเสริมไปกับกรมว่า ข้อมูลที่กรมได้คำนวณความต้องการใช้ไกลโฟเซตไว้ในตอนแรกจำนวน 48,000 ตัน ถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากในเบื้องต้นได้แย้งไปว่าข้อมูลการปลูกพืชมีเพิ่มขึ้นนับล้านไร่ อาจไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของเกษตรกร
ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกต คำว่า “การจำกัดการใช้” การเปิดโควตาจะต้องนำเข้าไม่มากกว่าปีที่แล้ว หรือเท่ากัน หรือน้อยกว่า แต่ทำไมนำเข้าปริมาณมากกว่า อย่างนี้จะเรียกว่าจำกัดการใช้หรือไม่ และอีกประเด็นหนึ่ง ยังมีข้อสงสัยกรณีที่กรมวิชาการเกษตรให้ผู้ประกอบการแนบฉลากสินค้าประกอบการขอโควตานำเข้าไกลโฟเซตเป็นระเบียบปีแรก
“บางบริษัทที่นำเข้าบางทีไม่ได้ขายเอง มีแค่ทะเบียนนำเข้าสารเคมี แล้วนำไปขายต่อให้บริษัทอื่นขาย จะเอาฉลากไหนมาแสดง หรือจะต้องไปเอาฉลากลูกค้ามายื่นให้กับกรมหรือไม่ แปลกปกติไม่เคยขอ ทำไมเพิ่งมาขอปีนี้ ความจริงเรื่องนี้เป็นความลับทางธุรกิจทำให้เกิดความสงสัยว่าทางกรมมีวัตถุประสงค์อย่างไร”
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,773 วันที่ 10-13 เมษายน 2565