ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี สรรหา "บอร์ด กยท." ไม่เป็นธรรม

24 พ.ย. 2565 | 09:50 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2565 | 17:00 น.

เครือข่าย “เหนือ -อีสาน-ใต้ “เดือด ประท้วงผลสรรหาบอร์ด กยท. ไม่เป็นธรรม ส่งหนังสือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ตรวจสอบกระบวนการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ บอร์ด กยท. ไม่เป็นธรรม ไม่มีความโปร่งใส "ธีระชัย" เตือน ระวังเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ทำแตกแยก

ถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน

 

นายถนอมเกียรติ  ยิ่งฉ้วน  ผู้เข้ารับการสรรหาเพื่อเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  วันนี้ (24 พ.ย.65) ทำหนังสือถึง พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)  เรื่อง   ขอคัดค้านกระบวนการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย  ในฐานะเป็นตัวแทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง แต่ด้วยกระบวนการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย โดยคณะอนุกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย  ไม่มีความโปร่งใสและไม่มีความเป็นธรรม ตามข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

 

 

1.กรณีนายพิเชษฐ ยอดไชย ได้ลงสมัครรับการสรรหาตามประกาศการยางแห่งประเทศ ไทย ลงวันที่ 23 กันยายน  2565  ได้สมัครในนามตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง ต่อมาได้มีประกาศการยางแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565  ขยายเวลารับสมัครเข้ารับการสรรหา นายพิเชษฐ ยอดไชย ได้สมัครใหม่ในนามสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ข้อกฎหมายคือ นายพิเชษฐ ยอดไชย สามารถสมัครใหม่ได้หรือไม่? ข้อสังเกตคือ ทำไมนายพิเชษฐ ยอดไชย ต้องไปสมัครใหม่ในนามสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งที่ครั้งแรกลงสมัครในนามเกษตรกรชาวสวนยาง

 

ปวิช พรหมทอง

2.กรณีนายปวิช พรหมทอง ซึ่งเป็นคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสินิตย์ เลิศไกร ต่อมานายปวิช พรหมทอง เพิ่งมาขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ในฐานะผู้ทำสวนยาง(ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินสวนยางของตัวเอง)

 

โดยมีข้อสังเกตคือ นายปวิช พรหมทอง ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเรื่องยางพาราแต่มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงระยะเวลาการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย คำถามคือ เป็นตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง หรือ เป็นตัวแทนของนักการเมือง/พรรคการเมือง

 

 

 

อีกประการสำคัญ นายปวิช พรหมทอง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะอนุกรรมการบริหารจัดการปุ๋ยในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563 ต่อมานายปวิช พรหมทอง ได้ทำหนังสือลาออกมายังประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยเพื่อไปลงสมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้ขาดคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร แต่นายปวิช พรหมทอง เมื่อไม่ได้รับการเลือกตั้ง กลับมาประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการปุ๋ย และได้รับค่าตอบแทนจากการประชุม

 

 

ซึ่งมีข้อสังเกตคือ การลาออกของนายปวิช พรหมทอง มีผลบังคับหรือไม่? ซึ่งจะส่งผลต่อข้อกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เพราะกรรมการและอนุกรรมการการยางแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอื่นตามกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ประการต่อมา ถ้าหนังสือลาออกของนายปวิช พรหมทอง มีผลตามกฎหมาย และไม่เคยมีคำสั่งคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยแต่งตั้งให้นานายปวิช พรหมทอง ให้กลับมาดำรงตำแหน่งอนุกรรมการบริหารจัดการปุ๋ยการยางแห่งประเทศไทย ทำไมนายปวิช พรหมทอง ยังมาประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการปุ๋ยหลายครั้ง โดยได้รับค่าตอบแทนจากการยางแห่งประเทศไทย นั่นแสดงถึงเจตนาทุจริตหรือฉ้อฉลหรือไม่?

 

ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี สรรหา \"บอร์ด กยท.\" ไม่เป็นธรรม

 

3.กรณีนางสาวอรอนงค์ อารินวงค์ ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนเกษตรชาวสวนยางจากภาคเหนือ แต่เคยมีหนังสือร้องเรียนจากเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จังหวัดน่าน ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ว่านางสาวอรอนงค์ อารินวงค์ มีข้อบกพร่องในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ในวาระปัจจุบัน ซึ่งมีข้อสงสัยเรื่องการทุจริตและสร้างความแตกแยกในเครือข่ายสถาบันเกษตรกรภาคเหนือ

 

ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี สรรหา \"บอร์ด กยท.\" ไม่เป็นธรรม

 

4.กรณีนายเขศักดิ์ สุดสวาท ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนสถาบันเกษตรชาวสวนยางจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งไม่ได้รับการคัดเลือก แม้ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดกำหนดว่าให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ต้องกระจายให้ครบ 4 ภาค แต่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาในการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ทั้ง 2 ครั้ง ได้พิจารณาให้มีผู้ทรงคุณวุฒิกระจายครบทั้ง 4 ภาค

 

เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม แต่ผลการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ กลับไม่มีตัวแทนจากเกษตรกรชาวสวนยางหรือสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 7 ล้านไร่ คำถามคือ ผลจากการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างไร ในเมื่อไม่มีตัวแทนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย

 

คณะอนุกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยได้มีการลงมติคัดเลือกนายปวิช พรหมทอง และ นางสาวอรอนงค์ อารินวงค์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง นายพิเชษฐ ยอดไชย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในฐานะสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยพิจารณาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565  ต่อมาคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยเสนอ

 

“จากทั้ง 4 กรณี ฐานะผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยจึงขอคัดค้านกระบวนการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เพราะกระบวนการสรรหามีความไม่โปร่งใสและเป็นธรรม อีกทั้งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายของนักการเมือง/พรรคการเมืองกระผมจึงขอยื่นหนังสือร้องเรียนต่อท่านประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาให้ความเป็นธรรมเพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิ”

 

ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี สรรหา \"บอร์ด กยท.\" ไม่เป็นธรรม

 

ด้านนายธีระชัย  แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสมาชิกเครือข่ายทั้งภาคอีสาน และภาคใต้ ที่มีการร้องเรียนเข้ามาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนการเมือง ไม่ใช่อาชีพ เอาคนการเมืองของตัวเองเข้ามาเล่นในเรื่องยางพารา  เมื่อเทียบกับรัฐบาล คสช.ยังมีการแบ่งสันปันส่วนออกมาในให้มีตัวแทนกระจายไปทุกภาค ต้องไปดูเกณฑ์การกำหนดกติกา การสรรหาบอร์ดอยู่ที่คนตั้งขึ้น ในเมื่อคิดกันแคบๆ แบบนี้เป็นการเมืองเกินไป ไม่ใช่ตัวจริง ที่คลุกคลีกับเกษตรกรชาวสวนยางที่เกษตรกรชาวสวนยางเลือกให้มาเป็นตัวแทนจริงๆ ของเกษตรกร ที่จะช่วยกันกำหนดอนาคตของชาววนวสวนยาง

 

 

“ผมก็เล่นการเมือง ผมก็ไม่ได้มองว่าเป็นการเมืองเวลามาในฐานะประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ   เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยก ส่วน กยท. องค์กรนี้ควรจะทำอะไรเปิดเผย ตรงไปตรงไม่ใช่ทำลับๆ อย่าคิดเอาแต่พวกพ้อง โดยเฉพาะบอร์ดยางควรจะแยกแยะ ไม่ควรเอาการเมืองเข้ามา แม้ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารก็ตาม แค่โควตา ประธานบอร์ด คนเดียวก็เพียงพอแล้ว ถ้าอยากจะขยายผลทางการเมือง ไม่ควรจะมาเวทีนี้ แล้วผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้ภาคอีสาน ขาดตัวแทนที่จะเป็นปากเสียงให้กับชาวสวนยาง”

 

 

อนึ่ง การยางแห่งประเทศไทย ได้รับการคัดสรรผู้ทรงคุณวุฒิ เรียบร้อยแล้ว กำลังรอส่งเข้า ครม.พิจารณาต่อไป

ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง


1.นายเผ่าภัค ศิริกุล
2.นายปวิช พรหมทอง
3.นางสาวอรอนงค์ อารินวงศ์

 

ตัวแทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง


1.นายศิริพันธ์ ตรีไตรรัตนกูล
2.นายพิเชษฐ ยอดไชย