ปิดฉากไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่ งาน ประชุมวัชพืชนานาชาติครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 4-9 ธ.ค. ที่จัดโดยสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ผนึก สมาคมวิทยาการวัชพืชนานาชาติ ร่วมเป็นเจ้าภาพ หนึ่งในไฮไลต์ที่ทุกคนตั้งตารอคอยก็คือปาฐกถาพิเศษของ ศาสตราจารย์พุทธิ มารัมเบ (Prof.Buddhi Marambe) นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชประเทศศรีลังกา และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การเพาะปลูก (Crop Science) คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเปราเดนิยา ประเทศศรีลังกา ที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ถึงศรีลังกา เกิดอะไรขึ้น ทำไมประเทศถึงล่มสลาย แล้วโยงเกษตรอินทรีย์ ได้อย่างไร
++ไทย มอง “ศรีลังกา”
ดร จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เคยถ่ายทอด ผ่านเว็บไซต์ สมาคม ทำไม ศรีลังกาล้มละลาย ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ ว่า เกิดจากนโยบายการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของรัฐบาลศรีลังกา..ซึ่งปกครองโดยตระกูลราชปักษา มายาวนานถึง 13 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2565 สาเหตุที่ศรีลังกากลายเป็นประเทศล้มละลาย..ส่วนหนึ่งมาจากการระบาดของไวรัส "โควิด-19" ตั้งแต่ปี 2562 แต่สาเหตุอื่นคืออะไร..ลองมาลำดับเหตุการณ์
ตั้งแต่ปี 2552 ที่นายมหินทา ราชปักษา (พี่ชายของนายโกตาบายา ราชปักษา) ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศได้ดำเนินนโยบาย เน้นการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ ไม่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก จึงเป็นเหตุให้ศรีลังกาเริ่มขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ เพราะรายได้จากการส่งของสินค้าไปขายต่างประเทศมีมูลค่าต่ำกว่าสินค้านำเข้า คิดเป็นเงินปีละ 3,000 ล้าน ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ ประมาณ หนึ่งแสนล้านบาท
ในปี 2562 รัฐบาลศรีลังกามีเงินทุนสำรองต่างประเทศเพียง 7,600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ประกอบกับนโยบายลดการจัดเก็บภาษี ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2562 ทำให้รัฐบาลขาดรายได้ปีละ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
++รัฐบาล อ้างห่วงสุขภาพ แบนสาร
ต้นปี 2564 ศรีลังกาเริ่มขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างหนัก ปุ๋ยเคมีทางการเกษตร เป็นเหตุให้นายโกตาบายา ราชปักษาตัดสินใจประกาศนโยบาย "เกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศ" ห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิด ทำให้ผลผลิตพืช เช่น ข้าว และ ใบชา ได้รับความเสียหาย รัฐบาลจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าอาหารเข้ามาให้ประชาชนบริโภค ยิ่งทำให้ภาวะขาดแคลน เงินตราต่างประเทศ ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนหมดความสามารถที่จะซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง เกิดการขาดแคลนด้านพลังงานและอาหาร อัตราเงินเฟ้อ พุ่งสูงขึ้นถึง 35% สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่า ผู้คนอดอยากหิวโหย
เดือน เมษายน 2565 ประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลของนายโกตาบายา ราชปักษา และบุกเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 ทำให้นายโกตาบายาและครอบครัว ต้องหลบหนีและประกาศจะลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ศรีลังกา สรุปการดำเนินนโยบายทางการเกษตรที่ผิดพลาดของศรีลังกา น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับประเทศไทยเช่นกัน
สถานะ “ ศรีลังกา” ปัจจุบัน
ศาสตราจารย์พุทธิ มารัมเบ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชประเทศศรีลังกาเผยผ่าน ดร. จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เป็นล่ามช่วยแปลภาษาจากอังกฤษเป็นไทย ว่า ศรีลังกา เป็นประเทศแรกในโลกที่เริ่มทำเกษตรอินทรีย์100% ทั้งประเทศ โดยสั่งห้ามนำเข้าสารเคมี ทางการเกษตรทุกชนิด ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 แต่ประกาศยกเลิกคำสั่งในเดือนพฤศจิกายน 2564
"พอเลิกแบนสารเคมี ก็ไม่มีเงินที่จะซื้อนำเข้าสารเคมี แล้วก็ผลผลิตลดอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ ใบชา และก็ข้าว ผลผลิตก็ลดหายไปกว่า 40% และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตหาย ส่งผลทำให้ราคาของเนื้อไก่เพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนไข่ไก่เพิ่มขึ้นใบละ 40 รูปี คิดเป็นเงินบาท 3.79 บาท/ฟอง กลายเป็น 70 รูปี คิดเป็นเงินไทย 6.63 บาท/ฟอง ตอนนี้โรงงานที่ผลิตอาหารคนและอาหารสัตว์ขาดแคลนวัตถุดิบเพราะราคาแพง ทำให้คนอดอยากหิวโหย"
ศาสตราจารย์พุทธิ เล่าย้อนไปเมื่อ 72 ปีที่แล้ว ประเทศ "ศรีลังกา" มีประชากรแค่ 5 ล้านคน ทำเกษตรอินทรีย์ ช่วงนั้นก็นำเข้าข้าวจากเมียนมา ต่อมาทางนักวิจัยจึงมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นซึ่งจะต้องใช้ปุ๋ยเคมี เพราะปุ๋ยอินทรีย์ไม่ได้ธาตุอาหารที่ครบถ้วนที่จะทำให้เพิ่มผลผลิต จึงมีการนำเข้าปุ๋ยเคมี และสารเคมี ครั้งแรก ปี 2503 และต่อมา มีการแบนไกลโฟเซต เพราะมีพระกับหมอ ว่าโรคจากไตเรื้อรัง ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน แต่ทางรัฐบาลเชื่อหมอกับพระ เป็นสาเหตุที่ทำให้แบนสารเคมี”
"พอแบนแล้ว ประเทศเริ่มขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างหนัก แต่รัฐบาลไม่ได้บอกความจริง อ้างเรื่องเป็นห่วงสุขภาพของคนในประเทศ จึงได้ ประกาศนโยบาย "เกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศ" ห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกตัว ยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นบวกกับจำนวนประชากรที่มีถึง 22 ล้านคน ปรากฏว่า 6 เดือนผ่านไปเศรษฐกิจ เข้าสู่ภาวะวิกฤติและเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ไปทั้งประเทศ จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 5 แสนคนผู้คนอดอยากหิวโหย จนทำให้ทุกอย่างพังครืนลงมา"
ศาสตราจารย์พุทธิ กล่าวว่า “เกษตรอินทรีย์” เหมาะสำหรับการบริโภคสำหรับคนในครอบครัว แต่ไม่ได้เหมาะสำหรับการส่งออก ดังนั้นวันนี้ ศรีลังกา จะต้องมีเป้าหมายเกษตร ที่จะผลิตเพียงพอให้บริโภคในประเทศ เพื่อที่จะลดการใช้เงินตราซื้อสินค้านำเข้า ปัจจุบันรัฐบาลใช้วิธีการอุดหนุนก็คือ นำเข้าข้าวจากอินเดียเข้ามา เนื่องจากราคาถูกกว่าให้คนในประเทศรับประทาน
สรุป ศรีลังกาไม่ควรทำเกษตรอินทรีย์ 100% เพราะไม่เพียงพอที่เลี้ยงประชากรในประเทศ ดังนั้นก็หวังว่าประเทศไทยควรใช้เป็นบทเรียนเพื่อที่ไม่ให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นซ้ำรอยในอนาคต ที่เกิดขึ้นอย่างประเทศ “ศรีลังกา”
ชมบรรยากาศความประทับใจ ส่งมอบประเทศอิสราเอล เป็นเจ้าภาพ ครั้งต่อไป