ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จัดประชุมวัชพืชนานาชาติครั้งที่ 8 (The 8th International Weed Science Congress) โดย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และ สมาคมวิทยาการวัชพืชนานาชาติ จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวัชพืชนานาชาติครั้งที่ 8 (The 8th International Weed Science Congress) ในระหว่างวันที่ 4-9 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรม Marriott Marquis Queen's Park สุขุมวิท 22 กรุงเทพฯ
โดยจะมีนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 400 คนจากทั่วโลก 50 ประเทศ มาเข้าร่วมประชุมและเสนอผลงานในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ บทบาทของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงกับการจัดการวัชพืช ชีววิทยาและนิเวศวิทยาของวัชพืช วิธีการกำจัดวัชพืชแบบผสมผสาน การกำจัดวัชพืชโดยใช้เและไม่ใช้สารเคมี วัชพืชต้านทานสารกำจัดวัชพืช กลไกการออกฤทธิ์ของสารกำจัดวัชพืช วัชพืชต่างถิ่นรุกราน วัชพืชปรสิต
ปัญหาวัชพืชในทวีปเอเชีย การตกค้างของสารเคมีกำจัดวัชพืชในดิน น้ำ และ สิ่งแวดล้อม การกำจัดวัชพืชด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การใช้ประโยชน์จากฐานพันธุกรรมวัชพืช ตลอดจนบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อวิธีการจัดการวัชพืช โดยพิธีเปิดในวันที่ 5 ธันวาคม ชมการแสดงโขนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริเวณข้างหน้านวดไทย ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคและในประเทศไทยด้วย นอกจากนั้นมีการบรรยายพิเศษ 4 เรื่องความท้าทายในการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกอย่างยั่งยืน การใช้หุ่นยนต์กำจัดวัชพืช วิวัฒนาการที่จำเป็นต่อการจัดการปัญหาวัชพืช การแบ่งกลุ่มสารเคมีกำจัดวัชพืชตามระบบใหม่ของ HRAC
ดร.จรรยา กล่าวว่า หนึ่งในไฮไลต์ ที่ได้เชิญวิทยากรจากประเทศศรีลังกา จะมาถอดบทเรียน จากที่ “ศรีลังกา” เป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศทำเกษตรอินทรีย์ 100% และห้ามนำเข้าสารเคมีทุกชนิดเมื่อเดือนเมษายน 2564 แต่ปรากฏว่า 6 เดือนผ่านไปเศรษฐกิจของศรีลังกา เข้าสู่ภาวะ วิกฤตและเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ไปทัั้งประเทศ จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 5 แสนคน ทำให้รัฐบาลศรีลังกาจึงประกาศยกเลิกการแบนปุ๋ยเคมี ในเดือนพฤศจิกายน 2564 น่าสนใจทั้งก่อนแบน หลังแบน ทำไมกลับมาใช้อีก เกิดอะไรขึ้น ความมั่นคงอาหารเป็นอย่างไร เชื่อว่าจะมีคนเข้าร่วมฟังมากในกลุ่มนี้ มีความใกล้เคียงกับประเทศไทยที่เพิ่งแบนสารเคมีไป
อย่างไรก็ดีในการประชุมระหว่าง วันที่ 5-8 ธันวาคม จะมีทั้งภาคบรรยายและโปสเตอร์ ตลอดจนนิทรรศการของภาครัฐและเอกชน นอกจากนั้น ยังมีทัศนศึกษา 3 เส้นทาง คือ วิธีการจัดการปัญหาวัชพืชดื้อยาในนาข้าวของบริษัทเอกชน ที่ศูนย์วิจัย ทีเจซี จังหวัดสุพรรณบุรี การจัดการวัชพืชในข้าวโพดและมันสำปะหลัง ที่สถานีวิจัยไบเออร์ จังหวัดลพบุรี และ การเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวังและสักการะพระแก้วมรกต จบท้ายด้วยการเลี้ยงอาหารค่ำบนเรือล่องเจ้าพระยา
ดร.จรรยา กล่าวทิ้งท้าย เชิญชวนว่าอยากให้ทุกคนที่สนใจมาร่วมงาน การประชุมครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นทุก 4 ปี โดยประเทศสมาชิกจะหมุนเวียนผลัดกันเป็นเจ้าภาพ โดยครั้งต่อไป ประเทศอิสราเอล รับเป็นเจ้าภาพ นอกจากจะเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับนักวัชพืชจากทั่วโลกแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย หลังจากที่ประสบปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 มานานหลายปี หากสนใจเข้าร่วมประชุม สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.iwsc2020.com