นายทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์นํ้า จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป ภายใต้แบรนด์ PfP เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้โควิดคลี่คลาย แต่เวลานี้ทั้งโลกเจอปัญหาเหมือนกันหมด คือ กำลังซื้อถดถอย ทำให้การซื้อขายลดน้อยลง ส่วนตลาดภายในประเทศยังพอไปได้แต่ก็ไม่โต ขณะที่ต้นทุนเพิ่มค่าเงินก็คุมไม่ได้ ทำให้ปรับตัวตามไม่ทัน
“โดยเฉพาะธุรกิจเราส่วนใหญ่ต้องนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศ ซึ่งถ้านำเข้ามาผลิตแล้วส่งออกได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้านำเข้ามาแล้วผลิตขายในประเทศ จะขาดทุน เหตุการณ์วันนี้คล้ายๆ กับเมื่อปี 2540 คนที่ได้ดีคือเกษตรกร คนที่ผลิตสินค้าจากวัตถุดิบในประเทศ เป็นกลุ่มที่มีกำไร แต่คนที่ต้องนำวัตถุดิบนำเข้ามาจากต่างประเทศโดนหนักกันหมด”
ตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ของเรา แต่วันนี้จีนก็มีปัญหาเรื่องโควิด เนื่องจากยังมีนโยบายโควิดเป็นศูนย์ วันนี้ถ้าส่งของไปจีน พนักงานจะต้องมีการตรวจโควิดทุก 7 วัน รวมถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ตรวจหมด เพิ่มต้นทุนเพิ่มค่าใช้จ่ายมาก ขณะเดียวกันก็มีนโยบายเมดอิน ไชน่า ทำให้มีการกีดกันการนำเข้ากลายๆ โดยจากเดิมการตรวจสินค้าที่ท่าเรือใช้เวลา 5-7 วัน กลายเป็น 20 วัน เป็นการกีดกันทางการค้าอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อช่วยโรงงานในประเทศของจีนเองให้ขายของได้
นายทวีกล่าวต่ออีกว่า ในขณะที่ตลาดยุโรปและอเมริกาอยู่ในสภาพนิ่งๆ ตลาดไม่โต เนื่องจากก็เจอปัญหาเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องนํ้ามันที่ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง อำนาจการซื้อลดลง แม้กลุ่มสินค้าอาหารยังเป็นของจำเป็น แต่ถ้าราคาแพงมากผู้ซื้อก็รับไม่ไหว ทั้งในประเทศและต่างประเทศกำลังซื้อลดลงกันหมด
ส่วนการปรับตัวของPfP นั้น นายทวีกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่มีสูตรสำเเร็จรับมือ พลิกตำราไหนก็ไม่มี ลำบากกันมาก วัตถุดิบทุกตัวปรับขึ้นหมด เช่น นํ้ามันปาล์ม จาก 29-30 บาท ปรับขึ้นเป็น 60 กว่าบาท ขณะที่เรื่องค่าเงินบอกตรงๆ ว่าตามไม่ทัน เมื่อก่อนขึ้นลงทีละ 2-3 สตางค์ มาวันนี้เปลี่ยนทีละ 30-40 สตางค์ บอกตามตรงว่าเราตามไม่ทัน ต้องแบกต้นทุนสูงขึ้นแต่จะไปปรับขึ้นราคาสินค้าก็ขึ้นไม่ได้ ขึ้นไปก็ขายไม่ออก นี่คือสิ่งที่น่าหนักใจ
แนวทางบริหารต้องหันมาปรับภายในองค์กรณ์ คือ ลดต้นทุนให้การสูญเสียน้อยที่สุด เพิ่มยีลด์ รวมทั้งปีที่ผ่านมามีี ค่าใช้จ่ายในเรื่องโควิดสูงมาก พนักงาน 1,700 คน ติดโควิดเสีย 300 คน ก็ทำงานแทบไม่ได้ เป็นค่าใช้จ่ายแฝงไม่คาดคิดมาก่อน ล่าสุดมีขึ้นค่าแรงอีกซึ่งก็ต้องปรับเพราะเราก็รู้ว่าค่า ครองชีพสูงขึ้น ไม่ปรับก็ไม่ได้ ต้องประคองกันไป
“วันนี้เราจึงต้องรัดเข็มขัดให้มากที่สุด แล้วก็พยายามลดค่าใช้จ่ายให้ได้ เพื่อให้มันสอด คล้องกับสถานการณ์ที่กำลังซื้อลดลง แต่บางอย่างก็ลดไม่ได้เช่นเงินเดือนก็ลดไม่ได้ แต่อะไรที่ลดได้ก็ลดไปก่อน”
สำหรับยอดขายปีนี้ นายทวีรับว่า ตัวเลขน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 10% เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูง ในขณะที่ PfP เป็นโรงงานใหม่ที่ลงทุนไปเยอะ ยังต้องแบกภาระค่าลงทุนอยู่ ทำให้มีผลต่อการแข่งขันและเสีย โอกาสไปบ้าง เหมือนที่พูดกันว่าปีที่แล้วเผาหลอก ปีนี้เผาจริง และแนวโน้มปีหน้า (2566) ก็ ยังไม่ดี
ในประเทศที่ดีมีอย่างเดียวคือ ราคาพืชผลการเกษตร นอกนั้นไม่มีตัวไหนดี ทำให้กำลังซื้อในประเทศยังพอมีในกลุ่มภาคการเกษตร แต่ก็ไม่ได้เยอะ และจำกัดในบางกลุ่ม ส่วนการท่องเที่ยวก็ยังไม่ดีต่อเนื่อง การเข้าพักโรงแรมในช่วงมีมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาลก็ดีขึ้น พอหมดก็ลดลง
อย่างไรก็ตาม นายทวีเผยว่า ทางบริษัทพยายามเพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ยอดขายเพิ่มน่าพอใจ ซึ่งก็พยายามจะขายให้มากขึ้น โดยเปิดเป็นช็อปในกรุงเทพฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 17-18 แห่งตอนนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในพื้นที่ และขายผ่านโมเดิร์นเทรด มินิสโตร์ ขายปลีกขายส่ง รวมทั้งการจำหน่ายผ่านออนไลน์ มีครบทุกช่องทาง
ควบคู่ไปกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อตอบสนองความต้อง การของลูกค้า ที่กำลังฮือฮามากในขณะนี้คือ โปรตีนจากพืชสำหรับคนรักสุขภาพ โดยเฉพาะตลาดยุโรปเริ่มฮือฮา ในขณะที่ตะวันออกกลางก็เริ่มนิยม ทำ ให้เป็นสินค้าอนาคตเลย และ
ยิ่งประเทศซาอุดีอาระเบียเปิดประเทศมากขึ้นยังพอเป็นโอกาส เพื่อประคองกันให้รอดไปให้ได้ก่อนแม้จะหิวหน่อย ประธานกรรมการบริหาร กลุ่ม PfP กล่าวยํ้า
สมชาย สามารถ/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,844 วันที่ 15-17 ธันวาคม พ.ศ.2565