วันที่ 4 มกราคม 2566 นายสุนทร ปานแสงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบาย แนวทางการดำเนินงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศ
อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรที่ประสงค์มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองรวมถึงผู้ยากไร้ และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ทั้งพัฒนากระบวนงานจัดที่ดินที่มีการปรับปรุงให้มีการบริการที่รวดเร็ว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร รวมถึงการแก้ไขกฎหมาย ถือว่าเป็นการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง
“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ควรเร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้ครอบคลุมพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน สระน้ำเพื่อการเกษตรประจำไร่นา หรือการขุดเจาะบ่อบาดาลพร้อมหอถังสูงระบบโซล่าเซลล์รวมถึงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการมีแหล่งกักเก็บน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่”
ทั้งเน้นย้ำการผลิตเกษตรปลอดภัยเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาลได้เป็นอย่างดี เพราะจะช่วยให้เกษตรกรปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรได้ นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการเกษตร การนำนวัตกรรมใหม่ๆมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรสามารถดูแลบริหารจัดการได้เองอีกประเด็นหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการใช้ข้อมูล Big Dataในการเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเกษตรกร มาใช้ประกอบการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้น ทำให้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ง่าย ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานต่างๆ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ด้านนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีภารกิจที่สำคัญ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) การจัดที่ดินส.ป.ก.ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรแล้วกว่า 36 ล้านไร่ ในปัจจุบันได้มีการนำระบบออนไลน์เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการให้บริการประชาชน
พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการทำงานนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อปรับปรุงการให้บริการประชาชนทั้งที่ศูนย์บริการประชาชนณ สำนักงานและศูนย์บริการประชาชนเคลื่อนที่ โดยพัฒนาระบบการยื่นคำร้องออนไลน์ ระบบรายงานปันสุขเพื่อติดตามสถานะการให้บริการ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการสื่อสารโดยมี Line Official ของส.ป.ก.จังหวัด 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การทำ MOU กว่า 9 หน่วยงาน เพื่อระดมสรรพกำลังในการขับเคลื่อนงานพัฒนา
ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเกษตรและการดำรงชีวิตของเกษตรกร 3) การพัฒนาเกษตรกร ส.ป.ก. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง เพื่อยกระดับสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร เน้นการพัฒนาความรู้และทักษะด้านการตลาดออนไลน์ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกร รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานรองรับโดยตั้งเป้าหมายให้สินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินมีความปลอดภัยและได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP
4) การบริหารเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการเกษตรและสนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน รวมถึงการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล อาทิ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติหรือโรคระบาด เป็นต้น อีกทั้ง ส.ป.ก. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและความสามารถของบุคลากรในองค์กรให้สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา เป็นการ Work form everywhere เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้อยู่ได้อยู่ดีมีความสุข