จังหวัดตราดและภาคเอกชนในพื้นที่ ผลักดันการเปิดด่านชายแดนเพิ่มมาช้านาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ระดับรัฐบาลมีความเคลื่อนไหวการเจรจาระหว่างประเทศ เพื่อหาข้อยุติการใช้ประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติ ล่าสุด คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ตรวจชายแดนในพื้นที่จังหวัดตราด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 8-9 ม.ค.2565 คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร นำคณะลงพื้นที่ชายแดนจ.ตราด ในประเด็นเรื่อง "การพัฒนาด่านชายแดนไทย - กัมพูชา เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและประชาชนในพื้นที่" ระหว่างวันที่ 8-9 มกราคม 2566
การลงพื้นที่ครั้งนี้ นำโดยนายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมด้วยพลตำรวจตรี สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด พรรคก้าวไกล และเจ้าหน้าที่ รวม 15 คน ร่วม โดยเดินทางมาตรวจพื้นที่บ้านท่าเส้น ต.แหลมกลัด อ.เมืองตราด จ.ตราด ที่ติดต่อกับจุดผ่านแดนถาวรบ้านทมอดา ต.เวียงเวล อ.เวียงเวล จ.โพธสัต ของกัมพูชา และจุดผ่อนปรนการค้าบ้านมะม่วง ต.นนทรี อ.บ่อไร่จ.ตราด ที่ติดกับจุดเนิน 400 อ.สัมรูด จ.พระตะบอง
ที่พื้นที่ช่องทางผ่านแดนบ้านท่าเส้น น.อ.สันติ เกษศรีพงศา ผู้บังคับหน่วยนาวิกโยธินตราด (ผบ.ฉก.นย.ตราด) ได้ให้การต้อนรับ โดยมีนายธนัท โสวนะปรีชา ประธานหอการค้าจ.ตราด นายวิมาน สิงหพันธุ์ นายกสมาคมการค้าชายแดนไทยกัมพูชาด้านจ.ตราด นายอำเภอเมืองตราด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมมูลชายแดนในพื้นที่
น.อ.สันติ กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่บ้านท่าเส้นเป็นเพียงช่องทางธรรมชาติ ยังไม่มีฐานะเป็นจุดผ่อนปรนการค้า หรือจุดผ่านแดน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของทหารนาวิกโยธินทั้งหมด ที่ผ่านมามีการผ่อนปรนให้ประชาชนชาวกัมพูชาในพื้นที่ เดินทางเข้ามาซื้อขายสินค้า และรักษาพยาบาลเพื่อมนุษยธรรม แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่จะปิดไม่ให้มีการเข้าออก
ขณะเดียวกันปัญหาในพื้นที่ยังมีปัญหาเขตแดนไม่ชัดเจน และมีข้อพิพาทอยู่จำนวน 17 จุด ตลอดแนวชายแดน ทั้งในอำเภอบ่อไร่ และอ.เมืองตราด จ.ตราด โดยเฉพาะในบริเวณบ้านทมอดา มีการก่อสร้างอาคารล้ำเข้ามาในเขตสันปันน้ำ ซึ่งทางฝ่ายทหารนายวิกโยธินได้ทำหนังประท้วงไปแล้ว แม้บางส่วนจะตอบรับและแก้ไขในระดับพื้นที่แล้ว แต่มีปัญหาที่ใหญ่กว่าในพื้นที่ยังไม่มีการแก้ไข
ซึ่งในส่วนของฝ่ายทหารไม่ขัดข้อง ในการที่จะเปิดเป็นจุดผ่อนปรนการค้า หรือจุดผ่านแดนถาวร แต่ต้องการให้ส่วนราชการชายแดนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมทำงานในพื้นที่ชายแดนร่วมกัน และหากสามารถเปิดได้ก็จะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดตราด
ด้านนายธนัท กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการผลักดัน ให้เปิดบ้านท่าเส้นเป็นจุดผ่านแดนถาวร เพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้า การท่องเที่ยว ระหว่าง 2 จังหวัด และยังสามารถเดินทางไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในกัมพูชาได้ อีกทั้งที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดโพธิสัต และผู้ว่าราชการจ.ตราด และในระดับพื้นที่ ได้ร่วมหารือและประชุม ซึ่งที่ผ่านมาชาวกัมพูชาต้องการเข้ามาจ.ตราด โดยผ่านจุดนี้ เพราะเดินทางสะดวก ไม่ต้องอ้อมไปเข้าที่หาดเล็ก ซึ่งจะทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นมาก และที่ผ่านมาภาคเอกชนของจ.ตราด ก็ได้เดินทางไปสำรวจ และร่วมมือกับฝั่งโพธิสัตมาอย่างต่อเนื่อง และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ส่วนายศักดินัย กล่าวว่า การเปิดจุดผ่านแดนถาวร ทั้งบ้านท่าเส้นและบ้านมะม่วง เป็นความต้องการของภาคเอกชนของจังหวัดตราด ที่เสนอผ่านไปยังจังหวัดตราด และได้รับการตอบสนอง เพราะเห็นว่าจะเกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ และเข้าจังหวัดตราดได้มาก แต่ผลลัพท์กลับไม่มีความคืบหน้ามาก
การเดินทาวมาครั้งนี้เพื่อมาตรวจสอบในพื้นที่ และรับฟังปัญหาของทางจังหวัดพร้อมข้อเสนอ ซี่งนับว่ามีประโยชน์มาก โดยทางสภาผู้แทนราษฎร จะเข้ามาผลักดันให้เกิดความสำเร็จโดยเร็ว และอยากจะให้แยกในเรื่องของความมั่นคงและการค้า โดยเดินคู่ขนานกันไป เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติเร็วที่สุด
จากนั้น คณะกรรมาธิการฯ เดินทางเข้าพบนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจ.ตราด และหัวหน้าส่วนราชการ พร้อมผู้นำองค์กรภาคเอกชน นำโดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจ.ตราด และหอการค้าจ.ตราด โดยประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า ที่คณะกรรมาธิการฯเดินทางมา เพื่อต้องการรับทราบสถานการณ์ ในพื้นที่ชายแดนทั้งสองจุด และรับทราบความต้องการของภาคเอกชน และอุปสรรคของทางจังหวัดตราด ว่าจะให้ทางคณะกรรมาธิการฯ เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาในด้านใดบ้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย
โดยที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดได้ให้ทางหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายความมั่นคง และราชการชายแดน โดยเฉพาะด่านศุลกากรคลองใหญ่ และพาณิชย์จังหวัดตราด ที่รายงานถึงมูลค่าการค้า ระหว่างจ.ตราดกับ 3 จังหวัดในกัมพูชา ที่มีพื้นที่ติดกับจ.ตราด โดยที่อำเภอคลองใหญ่ มีจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก ที่ส่งสินค้าเข้าไปทางจ.เกาะกง ประเทศกัมพูชา มีมูลค่าการค้ากว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2565
ขณะที่จุดผ่านผ่อนปรนการค้าบ้านมะม่วง และบ้านท่าเส้น มีมูลค่าปี 2565 จำนวน 10.48 ล้านบาท (ตัวเลขด่านศุลกากร) แต่ตัวเลขจากพาณิชย์จังหวัดตราด ที่รวมของหอการค้าจ.ตราด ระบุว่า ที่บ้านท่าเส้นมีมูลค่าการค้ากว่า 50 ล้านบาท/เดือน ส่วนบ้านมะม่วง ตั้งแต่เปิดจุดผ่อนปรนเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2565 มีมูลค่าการค้าแล้ว 718,005 บาท
ขณะที่พื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างศูนย์ราชการชายแดนของทั้งสองจุด ยังไม่ได้รับการอนุญาตจากกรมป่าไม้ รวมทั้งในพื้นที่ชายแดนยังไม่มีไฟฟ้าและอินเตอร์เน็ตไปถึง จึงไม่สามารถดำเนินการแบบวันสต๊อปเซอร์วิสได้
หลังจากจบการประชุมแล้ว นายชำนาญวิทย์ เปิดเผยว่า เรื่องนี้เป็นความพยายามของ จ.ตราด ที่ต้องการเปิดชายแดน ซึ่งฟากกรรมาธิการฯมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน ต้องขอบคุณคณะกรรมาธิการฯ และส่วนราชการที่มารับทราบปัญหาร่วมกัน ซึ่งประธานคณะกรรมาธิการฯได้รับทราบปัญหา และจะนำไปผลักดันในระดับส่วนกลางต่อไป
ในส่วนของ จ.ตราด ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนทุกคน เรียกร้องและผลักดัน ให้มีการเปิดทั้ง 3 ด่าน และมีความพยายามผลักดัน ในเรื่องการติดตั้งระบบไฟฟ้าและอินเตอร์เน็ต รวมทั้งการส่งมอบพื้นที่ป่าไม้ให้ส่วนราชการ ยังดำเนินการไม่เรียบร้อย ทำให้ปัญหาเรื่องโครงสร้างต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งหากสามารถเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรได้ทั้งหมด จะทำมีมูลค่าการค้ามากถึง 1 แสนล้านบาท ทั้งในมิติของการค้าและมิติด้านการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ จ.ตราด ขับเคลื่อนได้เฉพาะการท่องเที่ยว ส่วนภาคการค้าและอุตสาหกรรมมีข้อจำกัด เพราะในพื้นที่จังหวัดตราดไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม จึงมุ่งผลักดันให้จังหวัดตราด เป็นแหล่งท่องเที่ยวในระดับนานาขาติ โดยนับจากนี้ ทางจังหวัดได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการสื่อสาร 3 ภาษา ขณะที่สายการบินบางกอกแอร์เวย์ ก็พร้อมจะขยายรันเวย์ เพื่อนำเครื่องบินขนาดใหญ่มาลง จาก 66 ที่นั่ง เพิ่มเป็น 160 ที่นั่ง รวมทั้งพยายามผลักดัน ให้มีการใช้ท่าเรืออเนกประสงค์ อ.คลองใหญ่ มาทำเป็นท่าเรือเพื่อขนถ่ายสินค้า และท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว หากทำได้สำเร็จจะทำให้ จ.ตราดมีประตูสู่ต่างประเทศถึง 5 จุด
ขณะที่นายมนูญกล่าวว่า หลังจากที่ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางมาตรวจสอบในพื้นที่ พบว่าทั้งสภาพพื้นที่ชายแดนทั้งสองแห่ง ภาคราชการและภาคเอกชนมีความพร้อม และพื้นที่มีศักยภาพมาก เมื่อท้องถิ่นและทางจังหวัดเข้มแข็ง ตนเองก็เชื่อมั่นว่าจะทำให้การผลักดันนั้นง่ายขึ้น แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรค ถ้าแยกด้านความมั่นคงกับเรื่องเศรษฐกิจออกจากกัน ก็จะผลักดันให้เปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรได้ไม่ยาก โดยเรื่องความมั่นคงที่อาจจะต้องใช้เวลาแก้ปัญหานาน ส่วนเรื่องการค้าและเศรษฐกิจสามารถทำได้ทันที
ส่วนปัญหาเรื่องพื้นที่ศูนย์ราชการชายแดน ในสองพื้นที่ที่กรมป่าไม้ยังไม่ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่นั้น ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ คณะกรรมาธิการฯจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งอธิบดีกรมป่าไม้ เข้ามาร่วมประชุมหารือเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ซึ่งหากไม่อนุมัติก็ต้องมีเหตุผลอธิบาย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถเข้าไปดำเนินการสาธารณูปโภคในพื้นที่ชายแดนได้