วันที่ 9 มีนาคม 2566 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิด "งานรณรงค์การถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ปฏิบัติได้จริง" ภายใต้โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว กิจกรรมหลักสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน 21 ศูนย์ของจังหวัดนครปฐม พร้อมมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่เกษตรกร จำนวน 21 ราย จำนวน 1,000 ตัน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบางภาษี ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบสัญญาเช่าที่ดิน ส.ป.ก. ,ให้สินเชื่อเกษตร และมอบจุลินทรีย์ ปม.1 พันธุ์ปลาสำหรับเกษตรกร จำนวน 10 ราย โดย ดร.เฉลิมชัยได้เยี่ยมชมนิทรรศการและพบปะเกษตรกร มีผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม
ทั้งนี้บรรยากาศการต้อนรับเป็นไปอย่างอบอุ่นจากเกษตรกรและผู้นำในพื้นที่
ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า วันนี้มีโอกาสได้มาพบปะกับพี่น้องชาวจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีพื้นที่เกษตรกว่า 6 แสนไร่ แต่รายได้จากภาคเกษตรแค่ 1% ของจีดีพีจังหวัด เมื่อเปรียบเทียบแล้วถือว่าน้อยมาก นี่คือปัญหาของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะต้องเพิ่มจีดีพีภาคเกษตร หรือพูดง่าย ๆ คือการเพิ่มรายได้ หรือเพิ่มเงินในกระเป๋า และลดต้นทุนภาคการผลิตให้ได้ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ได้ เฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าว ที่มีทั้งประเทศเกือบ 5 ล้านครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลจะต้องสร้างความเข้มแข็ง
"การสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร จะทำให้ประเทศและสังคมเข้มแข็ง นี่คือนโยบายที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังดำเนินการ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิต เป็นคำตอบที่จะทำให้เกษตรกรพี่น้องชาวนา มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ บวกกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ คือ การใช้การตลาดนำการผลิต"
ทั้งนี้จะเห็นว่าเกษตรกรชาวนา หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ทำนาเป็นร้อยปี แต่ทำไมชีวิตไม่ได้ก้าวหน้า ลองนึกย้อนไปว่าในอดีตรัฐบาลที่ผ่านมาทำอะไรเพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกร พูดง่าย ๆ เปรียบเสมือนการซื้อข้าวห่อ ให้กินเป็นมื้อ ๆ ไป แต่ไม่ได้ทำให้เกษตรกรมีรายได้ และให้อยู่ได้แบบอย่างยั่งยืน วันนี้ภายใต้โยบายกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้คุยกับผู้บริหารกระทรวงแล้ว มีความเห็นพ้องตรงกันในการที่จะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มั่นคง และมั่งคั่ง มีเงินในกระเป๋า
ดร.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยเสียดายเงินที่จะดูแลเกษตรกร เพราะถือเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่จะต้องดูแล ซึ่งหากเกษตรกรมีชีวิตที่ดีก็ไม่ต้องมาเรียกร้องให้รัฐบาลดูแล แต่ไม่ใช่ให้เงินเปล่าแล้วก็จบ เพราะแนวนโยบายของกระทรวงในวันนี้ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวนาตัวจริงไม่ใช่นายทุน นี่คือสิ่งที่ทำควบคู่กันไป และจะสนับสนุนให้เกษตรยืนด้วยตัวเอง ซึ่งหวังว่าโครงการที่กรมการข้าวจัดในวันนี้ วัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน เป็นองค์กรที่ต้องร่วมกันพัฒนา และยกระดับทำให้เกษตรกรชาวนามีความเข้มแข็ง
"มาตรการหลังจากนี้ การนำงานวิจัย รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ดี จะช่วยสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน จึงขอให้เชื่อมั่นว่ากระทรวงเกษตรฯ จะอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนและเกษตรกรอย่างแน่นอน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่ดูแลการผลิตส่วนกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่หาตลาด นี่คือการทำงานแบบบูรณาการ ขอยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ ในยุคนี้ยืนเคียงข้างเกษตรกร ให้ถือผู้บริหาร เป็นเหมือนคนในครอบครัว"
นายชยชัย แสงอินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ดีใจที่รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับชาวนา วันนี้ทางจังหวัดกำลังรื้อฟื้นข้าวพันธุ์ปิ่นแก้ว เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เป็นข้าวพันธุ์ดีของไทยที่มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่จ.นครปฐม คว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดข้าวโลกที่ประเทศแคนาดา แต่ปัจจุบันข้าวพันธุ์ดังกล่าวกลับหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย กระทั่งมีแนวคิดที่จะพลิกฟื้นตำนานข้าวปิ่นแก้วกลับมาสู่ถิ่นกำเนิดอีกครั้ง
ด้าน นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า จังหวัดนครปฐมกล่าวได้ว่าเป็นเมืองอัจฉริยะที่มีอัตลักษณ์ที่รู้จักในด้านการเกษตรแปรรูปด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เขตการลงทุน การศึกษาและประตูเศรษฐกิจด้านตะวันตก รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรม แบ่งเขตการปกครองเป็น 7 อำเภอ 106 ตำบล 930 หมู่บ้าน มีประชากรราว 922,171 คน และมีพื้นที่ราว 1.3 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร โดยเป็นพื้นที่ทำนา 2.7 แสนไร่ พื้นที่พืชไร่ 5.6 หมื่นไร่ และพื้นที่พืชอื่น 3.2 หมื่นไร่ มีพื้นที่ชลประทาน 1,036,626 ไร่ (163.079 ของพื้นที่เกษตรกรรม)
ปัจจุบัน ต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น ประกอบกับราคาที่เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตข้าวมีความผันผวน ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว การลดต้นทุนการผลิตข้าว การเพิ่มผลผลิต และยกระดับคุณภาพ ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพัฒนาการผลิตข้าวให้มีความรู้ความเข้าใจ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตข้าวที่เหมาะสม เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตและผลตอบแทนจากการผลิต ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นการเชื่อมโยงนโยบายการพัฒนาข้าวลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศต่อไป