"ปลากะพง3น้ำทะเลสาบสงขลา"มีระบบคุมคุณภาพ-มาตรฐานสินค้าGIแล้ว

14 มี.ค. 2566 | 07:26 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2566 | 07:37 น.

ม.อ. จัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้า GI “ปลากะพง3น้ำทะเลสาบสงขลา” สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ช่วยผลักดันผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ห้องประชุมศูนย์บ่มเพาะคนดี สวนประวัติศาตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) โดยศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก คณะอุตสาหกรรมเกษตร ร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จัดประชุมชี้แจงโครงการจัดทําระบบควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Internal Control) สินค้า “ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา” 

กิจกรรมนี้ดำเนินการภายใต้โครงการส่งเสริม และคุ้มครองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย  เพื่อให้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว มีระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพ ทั้งกระบวนการผลิต และแหล่งที่มาของสินค้า รวมทั้งผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจสอบ จะได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย

\"ปลากะพง3น้ำทะเลสาบสงขลา\"มีระบบคุมคุณภาพ-มาตรฐานสินค้าGIแล้ว

\"ปลากะพง3น้ำทะเลสาบสงขลา\"มีระบบคุมคุณภาพ-มาตรฐานสินค้าGIแล้ว

โดยมี นายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน ผศ. ดร.เสาวคนธ์ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. กล่าวรายงาน พร้อมด้วย คณะกรรมการและคณะทำงานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ สมาชิกเกษตรกรผู้ผลิต และผู้ประกอบการปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา เข้าร่วมงาน 

ผศ. ดร.เสาวคนธ์ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก คณะอุตสาหกรรมเกษตร ดำเนินโครงการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Internal Control) ในสินค้าปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ประกอบด้วย ปลากะพงสด ปลากะพงสดแช่แข็ง ปลากะพงเค็ม และหนังปลากะพงทอดกรอบ 

\"ปลากะพง3น้ำทะเลสาบสงขลา\"มีระบบคุมคุณภาพ-มาตรฐานสินค้าGIแล้ว

\"ปลากะพง3น้ำทะเลสาบสงขลา\"มีระบบคุมคุณภาพ-มาตรฐานสินค้าGIแล้ว

โดยมีพื้นที่การเพาะเลี้ยงตั้งแต่ปากทะเลสาบสงขลาที่ติดกับทะเลอ่าวไทยเข้ามา ถึงบริเวณปากรอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา อำเภอหาดใหญ่ อำเภอบางกล่ำ อำเภอสิงหนคร และอำเภอควนเนียง และพื้นที่การแปรรูป ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ให้มีผลตั้งแต่วันยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ประกาศ ณ วันที่ 28 กันยายน 2565 เพื่อสร้างระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ให้ผลิตตามมาตรฐานที่ขึ้นทะเบียนไว้ เพื่อสร้างหลักเกณฑ์ด้านคุณภาพให้กับสินค้า GI สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้า 

นอกจากนี้ เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้าเข้าสู่ระบบการควบคุมคุณภาพสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย และนำตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยไปใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

\"ปลากะพง3น้ำทะเลสาบสงขลา\"มีระบบคุมคุณภาพ-มาตรฐานสินค้าGIแล้ว

กิจกรรมการประชุมชี้แจงดังกล่าว มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ผู้ผลิต ผู้แปรรูป หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังการชี้แจง ระดมสมอง และหารือการจัดทำคู่มือระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้า GI “ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา” ซึ่งประกอบไปด้วยแผนผังขั้นตอนการดำเนินงานตามระบบควบคุมคุณภาพ คู่มือการปฏิบัติงานสำหรับสมาชิก แผนการควบคุมการตรวจสอบสินค้า 

ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้า รวมถึงคณะทำงานนำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานที่จัดทำขึ้น ไปใช้ในการปฏิบัติงานและการตรวจประเมินได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งกิจกรรมในวันนี้ ยังจัดให้มีการรับสมัครเพื่อขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ผลิต และผู้ประกอบการค้า ที่ประสงค์จะขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา

“การจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้า จะเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ กระบวนการผลิต และแหล่งที่มาของสินค้า ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล สามารถติดตราสัญลักษณ์ GI ไทย ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน  และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของจังหวัดสงขลาต่อไป” ผศ. ดร.เสาวคนธ์ กล่าว

\"ปลากะพง3น้ำทะเลสาบสงขลา\"มีระบบคุมคุณภาพ-มาตรฐานสินค้าGIแล้ว

นายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ถือเป็นปลาเศรษฐกิจ ที่มีคุณภาพและลักษณะพิเศษ อันเป็นผลมาจากปัจจัยสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ และระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลา และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย หรือเรียกโดยทั่วไปว่าเป็น “สินค้า GI” 

ซึ่งการเป็นสินค้า GI จำเป็นต้องมีระบบการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน กระบวนการผลิต ตลอดจนแหล่งที่มาของสินค้า เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถรักษามาตรฐาน ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้ในระดับสากล โดยชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ ร่วมกันจัดทำระบบควบคุมภายใน ตั้งแต่ระดับผู้ผลิตและระดับพื้นที่ ทั้งกระบวนการผลิตที่รับรองได้ว่า การผลิตสินค้าเป็นไปตามข้อกำหนดที่ขึ้นทะเบียนไว้ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้