พาณิชย์ดัน“ไข่ครอบสงขลา”ขึ้น GI ย้ำช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าชุมชน

17 มี.ค. 2566 | 03:40 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2566 | 03:44 น.

“ไข่ครอบสงขลา”ของดีเมืองสงขลาที่มีกว่า 100 ปี พาณิชย์ดันขึ้นGI  มั่นใจผลักดันสินค้าเป็นที่รู้จักเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้ท้องถิ่นได้มากขึ้น

​​นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มุ่งมั่นยกระดับเศรษฐกิจบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย การส่งเสริมสินค้า GI ถือเป็นอีกกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนผ่านเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสินค้า ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาขานรับนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยหลังจากขึ้นทะเบียน GI ได้ครบ 77 จังหวัด นำมาสู่การสร้างมูลค่าทางการตลาดให้กับสินค้าชุมชนถึง 48,000 ล้านบาท 

​​นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน GI ไข่ครอบสงขลา ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ทั้งในแง่ของคุณภาพ รสชาติ และลักษณะอันโดดเด่น ผลิตจากกรรมวิธีการถนอมอาหารตามภูมิปัญญาชาวบ้านของชาวประมงในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนานกว่า 100 ปี ด้วยการนำไข่แดงจากไข่เป็ดที่เลี้ยงตามมาตรฐานปศุสัตว์มาแช่หรือหยอดน้ำเกลือในปริมาณที่เหมาะสม

พาณิชย์ดัน“ไข่ครอบสงขลา”ขึ้น GI ย้ำช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าชุมชน

จากนั้นบรรจุในเปลือกไข่ที่ตัดแต่งขอบแล้ว และครอบฝาด้วยเปลือกไข่ ก่อนนำไปนึ่งจนมีสีแดงอมส้ม ผิวมันวาว เนื้อสัมผัสมี 3 ระดับ คือ เนื้อลาวา เนื้อยางมะตูม และเนื้อดั้งเดิมเหนียวหนึบ รสชาติมันและเค็มเล็กน้อย ไม่มีกลิ่นคาว เป็นอาหารท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมสูงและหาทานได้เฉพาะในพื้นที่อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

พาณิชย์ดัน“ไข่ครอบสงขลา”ขึ้น GI ย้ำช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าชุมชน

​​ ทั้งนี้การขึ้นทะเบียน GI เป็นการช่วยยกระดับสินค้าชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืนโดยหลังจากได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันให้จังหวัดจัดทำระบบควบคุมมาตรฐานสินค้าและการอนุญาตให้ใช้ตรา GI ไทย การส่งเสริมการตลาด การเพิ่มมูลค่าผ่านการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลสินค้า GI ผ่านช่องทางต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง รวมทั้งใช้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ช่วยขับเคลื่อนไข่ครอบสงขลาออกสู่ตลาด เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นต่อไป