นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” สืบเนื่องจาก คุณภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้เข้าร่วมประชุมคณะอนุพัฒนาระบบราชการ (อกพร.) ด้านการทบทวนโครงสร้างราชการ ที่ประชุมมีวาระเรื่อง การถ่ายโอนงานของหน่วยงานรัฐให้เอกชนดำเนินการแทนเพื่อลดภาระงานของภาครัฐ ซึ่งที่ประชุม อกพร. ขอให้ภาคเอกชน สอบถามปัญหาอุปสรรคในกระบวนงานเป้าหมายต่างๆ เพื่อต่อยอดการถ่ายโอนงานภาครัฐให้เอกชน เกี่ยวกับงานตรวจสุขอนามัยสถานประกอบการประมง กรมประมง ว่ามีปัญหา อุปสรรคใดเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ อกพร. ได้ไปศึกษามาแล้วหรือไม่อย่างไร และได้มีการสอบถามความคิดเห็นมายังสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เรื่องถ่ายโอนภารกิจงานในเรื่องการตรวจสุขอนามัยเรือประมง และการออกหนังสือรับรองมาตรฐานสุขอนามัยบนเรือประมงไปยังหน่วยรับตรวจเอกชน นั้น
ในการนี้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ใคร่ขอเรียนมายังท่านว่า สมาคมฯ ได้พิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับการถ่ายโอนภารกิจงานในเรื่องการตรวจสุขอนามัยเรือประมง และการออกหนังสือรับรองมาตรฐานสุขอนามัยบนเรือประมงไปยังหน่วยรับตรวจเอกชน เนื่องจากเจ้าของเรือประมงต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่มีอัตราค่าบริการค่อนข้างสูงในการตรวจเรือ เพราะเจ้าของเรือประมงแต่ละรายมีศักยภาพทางการเงินที่แตกต่างกัน
“อัตราค่าใช้จ่ายในการตรวจเรือ สมาคมฯ ทราบว่ามีการเสนอการคิดค่าบริการตามขนาดเรือ แต่ทั้งนี้ เจ้าของเรือประมงแต่ละรายก็ใช่ว่าจะมีศักยภาพทางการเงินเพียงพอตามขนาดเรือที่ครอบครองอยู่ ดังนั้น การที่รัฐจะถ่ายโอนภารกิจให้กับหน่วยรับตรวจเอกชน เสมือนเป็นการผลักภาระให้กับผู้ประกอบการประมง”
ทั้งนี้ รัฐมีหน้าที่ให้บำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน ซึ่งผู้ประกอบการเรือประมงถือเป็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้าราชการมีหน้าที่บริการและดูแลประชาชน ไม่ใช่ผลักภาระให้กับผู้ประกอบการเรือประมง อีกทั้ง การตรวจสุขอนามัยเรือประมงมีผลต่อชาวประมงหากตรวจไม่ผ่านจะส่งผลกระทบกับชาวประมง เพราะจะไม่สามารถขอใบอนุญาตทำการประมงได้ ซึ่งจะทำให้ขาดสิทธิในการขอใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ และเป็นการละเมิดสิทธิในการประกอบอาชีพของชาวประมงอย่างร้ายแรง
“กรมประมงเก็บค่าใบอนุญาตทำการประมงกับเจ้าของเรือประมงลำละเป็นหมื่นถึงหลายหมื่นบาท แต่การตรวจสุขอนามัยเรือประมงกรมประมงเป็นผู้กำหนดเองแต่จะมาโยนภาระค่าใช้จ่ายให้ชาวประมงถูกที่ไหน ซึ่งการตรวจสุขอนามัยเรือประมงไม่มีความจำเป็น เพราะเรือประมงไม่ได้แปรรูปอาหารแต่กลับไปเขียนในกฎหมาย ให้ต้องทำนี่คือความไม่รู้เรื่องของคนออกกฎหมายแล้วสร้างภาระให้กับชาวประมง”
นายมงคล กล่าวอีกว่า เท่านั้นไม่พอไปกำหนดในเงื่อนไขว่าถ้าตรวจสุขอนามัยไม่ผ่านจะไม่สามารถออกใบอนุญาตทำการประมงให้ชาวประมงอีก เท่ากับไปสร้างปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงไม่มีที่สิ้นสุด