สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดบทความพิเศษ 16 ความคิดเพื่อชีวิตคนไทย : สิ่งที่เป็น ปัญหาที่เห็น และประเด็นชวนคิด หนึ่งในนั้นมีบทความที่น่าสนใจ โดย อธิภัทร มุทิตาเจริญ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ภาษี : ความรับผิดชอบของพรรคการเมือง โดยระบุถึงกรณีการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ของบรรดาพรรคการเมือง สรุปได้ดังนี้
ในช่วงฤดูหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ได้เห็นการแข่งขันทางนโยบายอย่างคึกคัก โดยการที่พรรคการเมืองต่าง ๆ มีเป้าประสงค์ช่วยเหลือปากท้องประชาชน นับเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่หลายนโยบายมีแนวโน้มเพิ่มภาระการคลังจนทำให้เกิดคำถามตามมาว่ารัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน และความยั่งยืนทางการคลังจะเป็นอย่างไร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : "เบี้ยผู้สูงอายุ" ยังไม่พอ ความท้าทายพรรคการเมืองกับสังคมผู้สูงวัย
หนีไม่พ้นพึ่งพารายได้ภาษี
บทความนี้ระบุเนื้อหาสำคัญว่า ในการทำนโยบายของพรรคการเมือง หากได้เป็นรัฐบาลการที่รัฐจะหางบประมาณมาสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ นั้นคงหนีไม่พ้นการพึ่งพารายได้ภาษี คิดเป็น 90% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาล
ดังนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความรับผิดชอบต่อความยั่งยืนทางการคลัง เพราะพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้เสนอแนวทางการหางบประมาณสนับสนุนที่สะท้อนความเป็นไปได้จริง และที่ผ่านมาแทบไม่เห็นการพูดถึงนโยบายภาษีในแง่มุมที่นอกเหนือไปจากการลดภาษี หรือการขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษี
3 ข้อเท็จจริงท้าทายระบบภาษีไทย
ด้วยเหตุนี้จึงเสนอ 3 ประเด็นสำคัญจากงานวิจัย ซึ่งสะท้อนความท้าทายของระบบภาษีไทย และข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย
1.รายได้ภาษีของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยรายได้ภาษีลดลงจาก 16% ต่อ GDP ในปี 2556 มาเป็น 14% ต่อ GDP ในปัจจุบัน ซึ่งการลดลงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด
ทั้งนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า รายได้ภาษีของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนสำคัญของพัฒนาการนี้อาจมาจากมาตรการภาษีต่าง ๆ ของรัฐเอง ซึ่งในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้แทบทั้งหมดเป็นในลักษณะของการลดภาษี การยกเว้นภาษี และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ดังนั้นเราจึงแทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีสำคัญที่เพิ่มรายได้ให้รัฐ
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่พรรคการเมืองต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการพูดถึงมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะ VAT เป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ และเป็นหนึ่งในเครื่องมือนโยบายของรัฐที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของครัวเรือนและธุรกิจมากที่สุด
โดยนับตั้งแต่วิกฤตโควิดสิ้นสุดลง รัฐบาลหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ได้ปรับขึ้นอัตรา VAT เพื่อรองรับภาระการคลังที่เพิ่มขึ้น ส่วนประเทศไทย VAT มักเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่รัฐบาลไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันพิจารณาเช่นกันเมื่อต้องการเพิ่มรายได้
ปัจจุบันการคิด VAT ที่ 7% ยังถือเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาและโครงสร้างภาษีใกล้เคียงกับไทย ซึ่ง VAT เป็นภาษีที่กระทบประชาชนในวงกว้าง และยังจัดเป็นภาษีถดถอย และผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มจะมีสัดส่วนภาระภาษี VAT ต่อรายได้มากกว่าผู้มีรายได้สูง และกฎเกณฑ์ VAT ยังสามารถส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าระบบภาษีของ SMEs ด้วย
ดังนั้นการปรับนโยบายด้านเกี่ยวกับ VAT จึงต้องวางแผนควบคู่กับการพิจารณาผลกระทบต่อการบริโภค การชดเชยผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย และการตัดสินใจเข้าระบบภาษีของธุรกิจ
3.การจัดสรรภาระภาษีอย่างเป็นธรรม มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในมุมมองผู้เสียภาษี โดยปัจจุบันมนุษย์เงินเดือนเป็นผู้แบกรับ 80% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อีกทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยมีการกระจุกตัวเป็นอย่างมาก โดยผู้ที่เสียภาษีเงินได้ มีสัดส่วนเพียง 10% ของกำลังแรงงานเท่านั้น
ดังนั้นการแบกรับภาษีของมนุษย์เงินเดือน และการจัดสรรภาระภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้นจำเป็นต้องจัดการเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
โดยการขยายฐานภาษีในทั้ง 2 มิตินี้จะเปิดโอกาสให้รัฐสามารถลดอัตราภาษีเงินได้ลง เพื่อแบ่งเบาภาระภาษีของผู้เสียภาษีในปัจจุบันได้ด้วย
ฝากโจทย์การเมืองดูนโยบายภาษี
อย่างไรก็ตามนักวิจัยได้ฝากประเด็นชวนคิดเอาไว้ว่า จากนี้ต้องมาดูว่าแต่ละพรรคการเมืองมีแผนการเพิ่มรายได้ภาษีของประเทศอย่างไร จำเป็นต้องปรับนโยบายภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และมีแนวทางการกระจายภาระภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้นระหว่างกลุ่มคนอาชีพต่าง ๆ ได้อย่างไร
ขณะที่นโยบายภาษีถือเป็นโจทย์ยากทางการเมือง การปรับเปลี่ยนนโยบายแต่ละครั้งมักจะมีผู้เสียประโยชน์ชัดเจน ในขณะที่ผู้ได้ประโยชน์มักจะมีเสียงไม่ดังนัก
อย่างไรก็ดี นโยบายภาษีสามารถเป็นเครื่องสะท้อนความสามารถและความจริงใจของพรรคการเมืองได้ หากเราได้เห็นนโยบายของแต่ละพรรคในประเด็นนโยบายภาษีนี้ จะทำให้คนไทยสามารถประเมินความรับผิดชอบของพรรคการเมืองได้ดีขึ้น เพื่อช่วยกันสร้างการเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคมต่อไป