UN เผยราคาอาหารตลาดโลกเริ่มลดลง แต่เหตุใดผู้บริโภคยังคงจ่ายแพง

28 เม.ย. 2566 | 06:51 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2566 | 07:07 น.

ยูเอ็นเผยราคาอาหารในตลาดโลกเริ่มลดลง 12 เดือนติดต่อกันแล้ว หลังจากที่หลายประเทศมีผลผลิตเพิ่มขึ้นมาก แต่ถึงกระนั้นราคาอาหารที่ผู้บริโภคต้องจ่ายก็ยังคงไม่ลดตาม


ปัจจุบัน ราคาสินค้าอาหาร ใน ตลาดโลก เริ่มลดลงจากระดับสูงสุดแล้ว รวมทั้งธัญพืช น้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์จากนม และสินค้าการเกษตรต่าง ๆ แต่ดูเหมือนราคาอาหารและวัตถุดิบปรุงอาหารต่างๆ ที่ ผู้บริโภค ต้องจ่ายยังคงไม่ลดลง ต้นทุนของค่าใช้จ่าย ของร้านอาหารและภาคครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับสูงเช่นเดิม

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ราคาอาหารโลก เริ่มพุ่งขึ้นก่อนที่รัสเซียจะส่งกำลังทหารบุกรุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และเนื่องจากยูเครนเป็นแหล่งผลิตธัญพืชและปุ๋ยป้อนตลาดโลก ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรพุ่งทะยานยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณที่ดีโดยสหประชาชาติระบุว่า ราคาอาหารในตลาดโลกเริ่มลดลง 12 เดือนติดต่อกัน และ ดัชนีราคาอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติ หรือ FAO (Food and Agriculture Organization) ก็ลดต่ำลงกว่าช่วงที่รัสเซียเริ่มบุกยูเครน หลังจากที่หลายประเทศ เช่น บราซิลและรัสเซีย มีผลผลิตเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งข้อตกลงที่สหประชาชาติเป็นผู้ผลักดันให้มีการเปิดทางในทะเลดำเพื่อให้สามารถขนส่งธัญพืชจากยูเครนออกไปสู่ตลาดโลกได้

เริ่มมีสัญญาณที่ดีโดยสหประชาชาติระบุว่า ราคาอาหารในตลาดโลกเริ่มลดลง 12 เดือนติดต่อกัน

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ราคาอาหารที่ผู้บริโภคในหลายประเทศต้องจ่ายยังคงไม่ลดลง นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า เหตุผลหลักที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา ไปจนถึงยุโรป และประเทศกำลังพัฒนา

นายเอียน มิทเชลล์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งโครงการยุโรปของ Center for Global Development ให้ความเห็นว่า ตลาดอาหารในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนบนโลก ผู้บริโภคก็จะรู้สึกถึงผลกระทบเมื่อราคาอาหารโลกแพงขึ้น แต่คำถามก็คือ ทำไมอัตราเงินเฟ้อในตลาดอาหารจึงยากที่จะลดลง และถ้าหากเงินเฟ้อนั้นไม่อิงกับราคาในตลาดโลกแล้ว จะขึ้นอยู่กับอะไรกันแน่

สารพัดต้นทุนแฝง

นายโจเซฟ กลอเบอร์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ เผยว่า ราคาผลผลิตทางการเกษตรเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่ในสหรัฐ 75% ของต้นทุนราคาอาหารที่แท้จริงนั้นถูกบวกเข้าไปหลังสินค้านั้นออกจากฟาร์มไปแล้ว เช่น ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ต้นทุนค่าดำเนินการ ค่าขนส่งและค่าแรงต่าง ๆ

ต้นทุนดังกล่าวบางส่วนยังถูกรวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า"อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน"หรือ Core Inflation ซึ่งไม่รวมราคาสินค้าและพลังงานที่มีความผันผวนสูง และยากที่จะแยกออกจากระบบเศรษฐกิจโลก

กลอเบอร์ เชื่อว่า ในที่สุดแล้วอัตราเงินเฟ้อในตลาดอาหารจะลดลงแต่จะเป็นไปอย่างช้า ๆ ส่วนใหญ่เป็นเพราะตัวแปรอื่น ๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง

การผูกขาดในอุตสาหกรรมอาหาร

อีกทฤษฎีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้อธิบายเงินเฟ้อในตลาดอาหาร คือ การผูกขาดในอุตสาหกรรมอาหารของสหรัฐ หลังจากที่มีการควบรวมกิจการของบริษัทขนาดเล็กหลายรายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เมื่อปี 2565 ทำเนียบขาวออกมาวิพากษ์วิจารณ์การที่ตลาดเนื้อวัว 85% ของสหรัฐถูกครอบครองส่วนแบ่งตลาดโดยบริษัทผลิตเนื้อสัตว์เพียง 4 รายเท่านั้น เช่นเดียวกับตลาดเนื้อหมูที่ 70% ครอบครองโดย 4 บริษัท ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้มีอำนาจทางการตลาดในการกำหนดราคาสินค้าของพวกตนได้ตามต้องการ

อย่างไรก็ตาม โจเซฟ กลอเบอร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการที่สถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ (International Food Policy Research Institute) ไม่เชื่อว่า การผูกขาดในธุรกิจการเกษตร คือ สาเหตุหลัก เพราะโดยปกติแล้ว เมื่อบริษัทขนาดใหญ่ขึ้นราคาสินค้าเพื่อทำกำไร ผลกำไรนั้นก็จะลดลงในเวลาอันรวดเร็ว

นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ให้เห็นว่า ค่าเงินดอลลาร์แข็ง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาอาหารยังคงอยู่ในระดับสูง

"ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีถูกอ้างอิงด้วยค่าเงินดอลลาร์ต่อตัน ทำให้ประชาชนในประเทศนั้น ๆ มองเห็นแต่ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น แต่ไม่ได้เห็นราคาแท้จริงของสินค้าที่ลดลง ซึ่งสะท้อนอยู่ในตลาดโลกและดัชนีราคาอาหารของยูเอ็น"

ที่มา: เอพี / วีโอเอ