"ประชาธิปัตย์"ประกาศนโยบายเกษตรทันสมัย 26-26 ดันไทยมหาอำนาจอาหารโลก

27 เม.ย. 2566 | 07:15 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2566 | 07:25 น.

“ประชาธิปัตย์”ประกาศนโยบายเกษตรทันสมัย 26-26 สู่เกษตรมูลค่าสูง ดันไทยมหาอำนาจอาหารโลก สร้างเงินให้ประเทศเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ตั้งฟู้ดวัลเลย์ทั่วประเทศสู่เกษตรมูลค่าสูงภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรฐานราก เกษตรฐานโลก” 


วันนี้(27 เม.ย.66) ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) แถลงข่าว วาระประเทศไทย ครั้งที่ 4 “ปชป. กับนโยบายเกษตร” นำโดย นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรค ในฐานะทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว. ศศิพฤนท์  จันทรทัต อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ ณ ห้องประชุมชั้น 3 พรรคประชาธิปัตย์ อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เล็งเห็นว่า เกษตร คือ อนาคตของประเทศ และเป็นดีเอ็นเอ (DNA) ของพรรค จึงมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปภาคเกษตรเพื่อให้เกษตรกรเข้มแข็ง เกษตรไทยแข็งแกร่งจึงกำหนดเป้าหมายของนโยบายเกษตรทันสมัยภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรฐานราก เกษตรฐานโลก”และยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 1.ประเทศไทยต้องเป็นมหาอำนาจอาหารโลก Top 10 2.เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น 100 % และ3.เพิ่ม GDP เกษตรเป็น 10% 

นโยบายเกษตรทันสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 26 จึงกำหนด 26 นโยบายสำคัญ เพื่อเป็นเครื่องมือในการยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรสู่การบรรลุเป้าหมาย เช่น ต่อยอดประกันรายได้จ่ายส่วนต่าง เกษตรแปลงใหญ่ 3 ล้าน เติมทุนชาวนา 3 หมื่นต่อครัวเรือน องค์กรประมงท้องถิ่น 1 แสนบาท ตอบแทน อาสาสมัครเกษตร (อกม.) 1 พันบาทต่อเดือน ธนาคารหมู่บ้านชุมชน 2 ล้าน ปรับลดปลดหนี้พักหนี้เกษตรกร ปลดล็อก ”พรก.ประมง" 

วางรากฐานใหม่เกษตรอุตสาหกรรมจัดตั้งฟู้ดวัลเลย์ (Food Valley) 18 กลุ่มจังหวัด มหานครผลไม้ รับเบอร์วัลเลย์ ฮาลาลฟู้ดปาร์ค และศูนย์เทคโนโลยีนวัตกรรมทุกจังหวัด ส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ เกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ เกษตรแม่นยำ 5 ล้านไร่ ขยายศูนย์ปุ๋ย-น้ำชุมชน และชลประทานตำบล พัฒนาโลจิสติกส์และระบบห่วงโซ่ความเย็น ส่งเสริมอาหารแห่งอนาคต อาหารฮาลาล ปฏิรูปปศุสัตว์-ประมงครบวงจร  ปฏิรูป ธกส. ปฏิรูปกระทรวงเกษตรฯ เป็นต้น

“พรรคประชาธิปัตย์สร้างเงินจากการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ให้ประเทศและเกษตรกรกว่า 5 ล้านล้านบาท ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สร้างประวัติศาสตร์ส่งออกทุเรียนทะลุแสนล้าน ทำให้ภาคเกษตรมีจีดีพี ไตรมาสแรกของปีนี้เติบโตถึง 5.5% เป็นมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท

เราจะสานงานต่อก่องานเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 100% ก้าวข้ามความยากจน ก้าวพ้นหนี้สิน ด้วย 26 นโยบาย เกษตรทันสมัย ของ พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 26 พรรคขวัญใจเกษตรกร 2 ปีซ้อน จากผลงาน ทำได้ไว ทำได้จริง ที่พิสูจน์แล้ว” นายอลงกรณ์ กล่าว

                            ทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์

ทั้งนี้  พรรคประชาธิปัตย์เล็งเห็นว่า ภาคเกษตร คือ อนาคตของประเทศจึงมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้”เกษตรกรเข้มแข็ง เกษตรไทยแข็งแกร่ง”จึงกำหนดเป้าหมายของนโยบายเกษตรภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรฐานราก เกษตรฐานโลก 2030 “ ประกอบด้วย

1.ประเทศไทยต้องเป็นมหาอำนาจอาหารโลกTop10
2.เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น 100 %
3.เพิ่มGDPเกษตรเป็น 10%

ขับเคลื่อนด้วย 3 กลยุทธ์เกษตรของพรรคประชาธิปัตย์
1. เปลี่ยนเกษตรกรยากจน เป็นเกษตรกรร่ำรวย
2. เปลี่ยนเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรทันสมัยรายได้สูง
3. เปลี่ยนเมืองเกษตร เป็นเมืองอาหาร

ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์เกษตรของพรรคประชาธิปัตย์
1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต
2.ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 5.0
3.ยุทธศาสตร์ เกษตรปลอดภัย เกษตรกรรมยั่งยืน
4.ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเกษตร
5.ยุทธศาสตร์เกษตรฐานราก เกษตรฐานโลก

ทั้งนี้จะสร้าง 5 ฐานใหม่ให้กับเกษตรกรและภาคเกษตร

1.สร้างฐานแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรใหม่ โดยเปลี่ยนเมืองเกษตร เป็น เมืองอาหาร ส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร 18 กลุ่มจังหวัด และเขตเศรษฐกิจเกษตร(Zoning)ทุกจังหวัด

2.สร้างฐานรายได้ใหม่เป็นเกษตร 4 ประเภท

1.เกษตรอาหาร 2. เกษตรพลังงาน 3.เกษตรท่องเที่ยว 4.เกษตรสุขภาพ

3.สร้างฐานตลาดใหม่ ยกระดับราคาสินค้าเกษตร

1.ตลาดออนไลน์(E-commerce) ตลาดประมูลออนไลน์และออฟไลน์

2.ขยายตลาดใหม่ๆในต่างประเทศ

3.สร้างแต้มต่อด้วยFTAและMini-FTAข้อตกลงการค้าเสรี
4.สร้างฐานสินค้าใหม่ เช่น อาหารแห่งอนาคต ( Future Food) เกษตรอินทรีย์ และอาหารฮาลาล( Halal Food) สร้างแบรนด์สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์

5.สร้างฐานแปลงเกษตรใหม่ เช่น ยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ 10,000 แปลง และเกษตรแม่นยำ(Precision Agriculture) 5 ล้านไร่

นโยบายเกษตรทันสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 26 จึงกำหนด 26 นโยบายสำคัญๆเพื่อเป็นเครื่องมือในการยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรสู่การบรรลุเป้าหมาย

1. ต่อยอดโครงการประกันรายได้ จ่ายเงินส่วนต่าง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด 

2. ยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ 3 ล้าน (พืช ประมง ปศุสัตว์)

3. เติมทุนชาวนา30,000 บาทต่อ 1 ครัวเรือน

4. ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสุขภาพเด็กนักเรียน

5. สนับสนุนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นอย่างน้อย 2,800 กลุ่มๆละ 100,000 บาทต่อปี 

6. ธนาคารหมู่บ้านและธนาคารชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท ส่งเสริมสินเชื่อเงินออมชุมชน

7. ปลดล็อก พรก.ประมงภายใต้กติกา IUU โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบจบใน 90 วัน จัดตั้งสภาการประมง และกองทุนประมง พัฒนาศักยภาพประมงพื้นบ้านประมงพาณิชย์ประมงนอกน่านน้ำและอุตสาหกรรมประมง

8. ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี ออกกรรมสิทธิ์ทำกินให้เกษตรกรในที่ดินของรัฐทุกประเภท กระจายการถือครองที่ดิน ปฏิรูปที่ดิน ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน

9. พัฒนาปศุสัตว์ครบวงจร ยกระดับกีฬาประเพณีท้องถิ่นสู่มาตรฐานใหม่ เช่น วัวลาน วัวชน ตีไก่ประกวดนก 

10. ค่าตอบแทนอาสาสมัครเกษตร 1,000 บาทต่อเดือน

11. แก้หนี้ แก้จน ปรับลดปลดหนี้พักหนี้ 4 ปีอย่างมีวินัย ปฏิรูปธกส.  ปฏิรูประบบสินเชื่อ-เงินฝาก-ดอกเบี้ย พัฒนากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรและกองทุนเกษตรอื่นๆ

12. จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหาร 18 กลุ่มจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษทางการเกษตรทุกจังหวัด นิคมอุตสาหกรรมยาง(Rubber Valley) นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

13. ยกระดับศูนย์เทคโนโลยีเกษตร นวัตกรรมและเครื่องจักรกล (Agri-tech Innovation  and Machine Center) 

14. พัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์ประมง และพันธุ์ปศุสัตว์เพื่อเพิ่มผลผลิตและตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ยกระดับศูนย์ข้าวชุมชน

15. ส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำ เกษตรออนไลน์ เกษตรกรรมยั่งยืนตำบล เกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง เกษตรคาร์บอนต่ำเพิ่มรายได้ลดโลกร้อน 

16. พัฒนาโลจิสติกส์เกษตร เชื่อมเกษตรไทย เชื่อมตลาดโลก

17. ประกันภัยพืชผล ประมงและปศุสัตว์

18. ส่งเสริมพลังงานทดแทนทุกรูปแบบในภาคการเกษตรเช่นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานชีวมวลและพลังงานแก๊สชีวภาพ ฯลฯ

19. ส่งเสริมอาหารแห่งอนาคต เกษตรอินทรีย์และอาหารฮาลาล

20. การบริหารจัดการน้ำมิติใหม่ ชลประทานอัจฉริยะ ขยายเขตชลประทานเป็น 50 % พัฒนาแหล่งน้ำใหม่ ชลประทานตำบล ธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบส่งน้ำแบบใหม่ เพิ่มแก้มลิงและสระน้ำในพื้นที่เกษตรของเกษตรกร

21. ยกระดับการบริหารจัดการผลไม้และจัดตั้งมหานครผลไม้

22.  ส่งเสริมสถาบันเกษตรกรซื้อปุ๋ยตรง เพิ่มศูนย์บริการดิน-ปุ๋ยชุมชนหมู่บ้านตำบล ปุ๋ยสั่งตัด เพิ่มการผลิต ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก 5 ล้านตัน

23.  พัฒนาสหกรณ์ เพิ่มกองทุนพัฒนาสหกรณ์ 

24. ส่งเสริมสถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรรุ่นใหม่ แม่บ้านเกษตร สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี.เกษตร อกม.และศพก. ยกระดับมาตรฐานวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเกษตร เพิ่มวิทยฐานะชำนาญเฉพาะทาง  คุณวุฒิวิชาชีพเกษตรกรและการศึกษาการเกษตรมิติใหม่ พัฒนาวิทยาลัยประมง เดินเรือ เพาะเลี้ยง  ปศุสัตว์ สัตวแพทย์ สัตวบาล

25. โลจิสติกส์เกษตรและระบบห่วงโซ่ความเย็น เชื่อมเกษตรไทย เชื่อมตลาดโลก

26. ปฎิรูปกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นกระทรวงที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีโดยโครงการดิจิตอล ทรานสฟอร์เมชั่น (Digital Transformation)