นายภาสิต ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ (รักษาการ) บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC เปิดเผยในงานสัมมนา The Big Issue 2023 ปุ๋ยแพง : วาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร ในหัวข้อปุ๋ยแพง ปัญหาใหญ่ภาคเกษตรกร ว่า ตนในฐานะนักอุตสาหกรรมและตัวแทนบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ซึ่ง TRC ถือหุ้น 25% โดยโครงการเหมืองแร่อาเซียนโปแตชชัยภูมิ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2516 ในการสำรวจแหล่งแร่โปแตชและเกลือหิน จนชาวบ้านนำมาขาย
ในปี 2525 เริ่มโครงการทำเหมืองทดลองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นเหมืองใต้ดินแห่งแรกของไทย ต่อมาในปี 2533 ได้เริ่มดำเนินการขุดอุโมงค์ลึก 200 เมตร ระยะทาง 1 กิโลเมตร (กม.) จนถึงแหล่งแร่ โดยมีการส่งแร่ไปทดสอบที่ประเทศสหรัฐอเมริการและแคนาดา ซึ่งบริษัทได้เข้าร่วมโครงการฯนี้ในปี 2550 ทั้งนี้ในต้นปี 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงการคลังดำเนินการเข้าเพิ่มทุนในโครงการฯเพื่อดำเนินการต่อไป จากเดิมที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 20%
ที่ผ่านมามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังระบุอีกว่า บมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ เป็นหนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท เบื้องต้นเอกชนได้เข้าไปเจรจากับภาครัฐ ขอให้โครงการฯดำเนินการต่อไป เพื่อที่เอกชนสามารถชำระหนี้ที่ค้างกับภาครัฐได้
“เราขอชำระหนี้กับภาครัฐเป็นปุ๋ย ในราคาที่ต่ำกว่าการนำเข้าปุ๋ยหรือต่ำกว่าราคาของกรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) ที่กำหนด -10% หากภาครัฐต้องการปุ๋ยมากกว่านั้น ทางเอกชนพร้อมจำหน่ายปุ๋ยให้แก่ภาครัฐตามที่กพร.กำหนด -7%”
นายภาสิต กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีปริมาณแร่โปแตชเซียมสำรองทั้งหมด 400,000 ล้านตัน แบ่งเป็น 2 แอ่ง ได้แก่ แอ่งสกลนครและแอ่งโคราช โดยโครงการนี้ได้จัดเตรียมพื้นที่ ประมาณ 5,600 ไร่ ที่ห่างไกลจากชุมชน ซึ่งไม่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ไม่พาดผ่านแนวรอยเลื่อน และไม่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว โดยอยู่สูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ 30-50 เมตร (ไม่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม) จาก 5,600 ไร่ เป็นพื้นที่บ่อกักเก็บหางแร่ประมาณ 2,777 ไร่
ส่วนที่เหลือรอบบ่อ เป็นพื้นที่กันชน (Green belt buffering zone) ซึ่งดำเนินการให้ กลุ่ม SCG Forestry และ กลุ่มบริษัท AA ปลูกต้นกระดาษ เป็นแนวบังตา และกันชาวบ้านเข้าไปในบ่อเก็บหางแร่ โดยที่ผ่านมาโครงการฯได้ผ่านรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว ปัจจุบันบริษัทฯอยู่ระหว่างดำเนินการวางแผนระดมทุน
สำหรับภาพรวมตลาดปุ๋ยเคมีในไทย พบว่าปุ๋ยเคมีราคาแพงขึ้น ถึงแม้ว่าปริมาณการนำเข้าปุ๋ยลดลง โดยในปี 2565 มีปริมาณการนำเข้าปุ๋ยลดลง 25% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจาก 45 ประเทศ ปริมาณ 5.5 ล้านตัน มีมูลค่าประมาณ 70,103 ล้านบาท
ทั้งนี้ยังพบว่าต้นทุนการผลิตพืชมีค่าปุ๋ยเคมีเกินกว่า 20% ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ย และแม่ปุ๋ย จากต่างประเทศ ราคาแม่ปุ๋ยทุกชนิดมีการปรับตัวขึ้นอย่างสูงมาก และยิ่งไปกว่านั้น ไม่สามารถสั่งนำเข้ามาได้ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตหยุดการส่งออก(ช่วงเกิดสงคราม)
นายภาสิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันไทยใช้ปริมาณปุ๋ยทั้งหมด ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี โดยมีแม่ปุ๋ย N-P-K ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี โดยใช้แม่ปุ๋ยไนโตรเจน (Nitrogen / Granular UREA และ AS Capolactum ) หรือ 46-0-0 และ 21-0-0 ประมาณ 2,480,000 ตันต่อปี คิดเป็น 62% โดยนำเข้าจาก ซาอุดีอาระเบีย จีน กาตาร์ รัสเซีย และ แคนาดา
นอกจากนี้แม่ปุ๋ยฟอสฟอรัส (Phosphorus / Diammonium Phosphate “DAP”) หรือ 18-46-0 ประมาณ 720,000 ตันต่อปี คิดเป็น 18% โดยนำเข้าจาก สหรัฐอเมริกา โมร็อกโก และ จีน ส่วนแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม (Potash / Muriate of Potash “MOP”) หรือ 0-0-60 ประมาณ 800,000 ตันต่อปี คิดเป็น 20% โดยนำเข้าจาก แคนาดา เบลารุส และ รัสเซีย