สืบเนื่องจาก เฟซบุ๊ก กลุ่มเรื่องเล่าชาวนา มีสมาชิก 5.1 หมื่นคน ได้โพสต์ประกาศของโรงสีแห่งหนึ่ง เรื่องขอความร่วมมือเกษตรกรทุกท่าน แจ้งเพื่อทราบ บางโรงสีประกาศไม่รับซื้อ จริงเท็จ ตรวจสอบกันที่โรงสีใกล้บ้านท่านเอง ก็จะมีบางโรงสีเท่านั้นแหละที่รับซื้อ แล้วเอาไปผสมกับข้าวคุณภาพ ทำให้ข้าวคุณภาพต่ำลง
สมมุติว่า ข้าวคุณภาพต่ำ 100 ตัน ผสมกับข้าวคุณภาพดี 1,000 ตัน ดูไม่ออก ดูยาก กลืนกันไปหมด กรรมคือประเทศไทย ที่ทำเรื่องส่งออก ได้แก่ ข้าวตระกูลจัสมิน กับ MG เขาจะไม่รับซื้อ จริงๆ 2 พันธุ์นี้โรงสีส่ายหน้า ซื้อไปเมื่อเทียบกับพันธุ์อื่นน้ำหนักหาย มากกว่าพันธุ์อื่น อีกประมาณ 150-160 ก.ก/ ตัน และเมื่อเอา 2 พันธุ์นี้ ไปทำแป้งหรือเส้นก๋วยเตี๋ยวก็มีปัญหาเหมือนกัน
เช่นเดียวกับ กข95 ข้าวเมล็ดยาว และ พันธุ์ข้าว กข85 ข้าวเมล็ดยาว ไม่แน่ใจว่าทำไมไม่ซื้อ จากความคิดเห็นดังกล่าวนี้ทำให้ขาวนาตกใจตื่น จริงหรือ แล้วบางคนปลูกไปแล้วทำอย่างไร กลายเป็นความไม่พอใจ จนทำให้กรมการข้าว ต้องออกมาชี้แจง เพราะมี 2 สายพันธุ์รับรองพันธุ์ไป ได้แก่ พันธุ์ข้าว กข95 ข้าวเมล็ดยาว เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 และ พันธุ์ข้าว กข85 เป็นพันธุ์ข้าวที่รับรองไป วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เผยว่า ตนขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่าข้าว กข95 (ดกเจ้าพระยา) และ กข85 ทั้ง 2 พันธุ์เป็นพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ ให้ผลผลิตสูง และยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนั้นก็อยากชี้แจงให้พี่น้องเกษตรกรได้รับทราบถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงของลักษณะประจำพันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์ที่กรมการข้าวได้ให้การรับรอง ว่าแท้จริงแล้วมีลักษณะเป็นอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด
อีกทั้งในขณะนี้ผมได้มอบหมายให้ นางสาวชวนชม ดีรัศมี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ผู้วิจัยข้าวพันธุ์ กข85 และ กข95 พร้อมด้วยสารวัตรข้าว ออกตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องการปลูกข้าวพันธุ์ กข85 และ กข95 บนพื้นที่แนะนำ โดยเมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วให้รายงานมายังผมโดยด่วน
“ข้าวพันธุ์ กข85” นั้นมีลักษณะทั่วไป คือ เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปี และนาปรัง ความสูง 104 เซนติเมตร กอตั้ง ลำต้นแข็ง ใบสีเขียวเข้ม ใบธงตั้ง อายุเก็บเกี่ยว 115-120 วัน ผลผลิต 862 กิโลกรัมต่อไร่เมล็ดเรียวยาว ข้าวเปลือกสีฟาง เมล็ดข้าวกล้องยาว 8.0 มิลลิเมตร ปริมาณอมิโลส 27-28 เปอร์เซ็นต์ มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตสูง ค่อนข้างต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้ ทนต่อสภาพอากาศเย็น คุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่น้อย"
“ข้าวพันธุ์ กข95” (ดกเจ้าพระยา) นั้นมีลักษณะทั่วไป คือ เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 95 - 100 วัน ความสูง 110 เซนติเมตร ทรงกอตั้ง ลำต้นค่อนข้างแข็ง รวงแน่นปานกลาง คุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่น้อยปริมาณอมิโลสสูง ร้อยละ 29.78 มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 885 กก/ไร่ มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุดถึง 1,213 กก/ไร่ ต้านทานต่อโรคไหม้ และค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ด้านนายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แต่ละโรงสี ทำข้าวไม่เหมือนกัน ตัวที่ประกาศไม่รับซื้อข้าวหอมพวง เพราะเมล็ดสั้น และเป็นข้าวพื้นนุ่ม หากมารวมกับข้าวพื้นแข็งทำให้คุณภาพของข้าวสารเปลี่ยนไปกว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อรับประทานแล้ว ซึ่งลูกค้าปลายอาจจะมีโต้ว่ากลับมา ทำให้โรงสีมีการคัดแยกข้าวเปลือก ในอนาคตมีการพูดคุยเบื้องต้นว่าแยกออกจากข้าวทั่วไป นำไปขายเป็นข้าวเฉพาะ ส่วนข้าว MG เปลือกหนา เวลาสีแปรหักง่าย ทำให้การผลิตต่ำลงเยอะ
“ประกาศนี้เป็นบางพื้นที่เท่านั้น ยืนยันไม่ใช่ทุกโรงสี เกษตรกรที่ปลูกข้าวพวกนี้อยู่หากได้ผลผลิตดี ได้เงินใส่กระเป๋ามากขึ้นในแต่ละฤดูก็ทำไปเลย โรงสีรับซื้ออยู่แล้ว แต่ราคาอาจจะปรับลดลงบ้างจากข้าวปกติทั่วไป”