นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมน้ำยางข้นไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เวลานี้คำสั่งซื้อ“น้ำยางข้น” จากต่างประเทศหายไปจากปกติกว่าครึ่งหนึ่ง ทั้งจากจีน มาเลเซียที่เป็นคู่ค้าหลักที่นำไปแปรรูปเป็นผลิตต่อเนื่อง รวมทั้งจากตัวแทนซื้อขายในประเทศไทย จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้บริษัทน้ำยางข้นในประเทศได้ดัมพ์ราคาต่ำ และแย่งกันขาย จากที่ไม่มีคนซื้อ ขณะที่สต๊อกที่มีอยู่หากเก็บไว้ไม่ขาย สินค้าก็จะเสียหาย จึงจำเป็นต้องนำมาขายในราคาถูก
“เวลานี้ความต้องการสั่งซื้อน้อย ไม่รู้เกิดจากสาเหตุอะไร ไม่แน่ใจ ที่ว่าจีนเปิดประเทศเศรษฐกิจดีขึ้น ปีนี้จะเติบโต 4-5% ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า สวนทางกับคู่ค้าที่เราได้สัมผัสจริง ซื้อของน้อยมาก หรือแทบไม่ซื้อเลย สถานการณ์ในตอนนี้ยิ่งกว่าช่วงโควิดอีก ผมยังไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้เลย ไม่ใช่แค่น้ำยางข้น แต่ยังลามกระทบต่อเนื่องถึงถุงมือยาง ยางยืด ไตรมาสนี้ไม่ดี แย่มาก ราคาที่เห็นค่อยปรับตัวลงมาเรื่อย ๆ จากทั่วโลกเศรษฐกิจไม่ดี ทั้งยุโรปและอเมริกา กระทบต่อการสั่งซื้อ”
นายวรเทพ กล่าวอีกว่า เดือนพฤษภาคม ชาวสวนแจ้งมาว่ามีการเปิดกรีดแล้ว แต่ต้องดูอีก 2-3 สัปดาห์นับจากนี้ว่า จะมีฝนตกหรือไม่ หรือที่เห็นมีพายุฤดูร้อน ก็ต้องลุ้นว่าจะถึงภาคใต้ หรือพัดไปทางภาคตะวันออกหรือไม่ เพราะหากมีฝนตกก็ช่วยทำให้ชาวสวนกรีดยางได้ ซึ่งเมื่อกรีดได้แล้ว จะขายให้กับใคร แล้วถ้ากรีดยางออกมามาก ราคาตกต่ำลงไปอีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก
“ในความเห็นของผมเข้าใจว่าลูกค้าจีน อาจต้องการล้างสต๊อกของที่มีซื้อไว้ก่อนหน้านี้ โดยซื้อสต๊อกไว้ในช่วงสถานการณ์โควิด ดังนั้นต้องกำจัดก้อนนี้ออกไปก่อนเพื่อไม่ให้แบกสต๊อก และหมุนเวียนสินค้าออกไป จากของที่เก็บไว้คุณภาพอาจจะต่ำลง ต้องใช้ของเก่าให้หมดก่อน เดี๋ยวค่อยซื้อใหม่ ก็อาจจะใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน ถึงเวลานั้นอาจจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาใหม่ สถานการณ์ยางพาราก็อาจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”
นายวรเทพ กล่าวอีกว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความวิตกความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และจีน จะก่อให้เกิดสงครามขึ้นหรือไม่ ขณะที่สหภาพยุโรปยังเจอปัญหาดอกเบี้ยสูง ต้นทุนสูง เกิดเศรษฐกิจถดถอย ต้องลดการผลิตและลดคนงาน ส่งผลทำให้การสั่งซื้อน้อยลง ผู้บริโภคลดการจับจ่าย เพื่อเก็บเงินไว้ดีกว่า และเท่าที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับอุตสาหกรรมอื่นสภาพไม่แตกต่างกัน ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่ดูดีอย่างเดียว
ขณะที่ นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เผยว่า ราคายางพาราช่วงนี้ค่อนข้างทรง ๆ ผลผลิตยังออกมาไม่มาก หากเจอภัยแล้งจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ ราคายางปลายปีนี้อาจมีโอกาสปรับราคาสูงขึ้นได้ ส่วนสถานการณ์ยางแผ่นดิบ น้ำยางก้อนถ้วย จะเห็นว่าราคายังทรงตัว เช่นเดียวกับยางแท่ง สถานการณ์ตลาดก็ยังปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้มีแนวโน้มเหมือนราคาจะขยับขึ้นด้วยซ้ำ แต่เท่าที่ทราบน้ำยางข้น มีปัญหาเพราะถุงมือยางยังขายไม่ได้ ทำให้ช่วงนี้ซบเซา
ส่วนสถานการณ์เอลนีโญ่ ที่ก่อให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้ง ที่หลายฝ่ายจับตาในขณะนี้จะรุนแรงมากน้อยเพียงใด ยังไม่มีใครคาดเดาได้ กรมอุตุนิยมวิทยา ก็พยากรณ์ว่าจะใกล้เคียงกับปี 2559 ซึ่งหากเป็นความจริง ในปีนั้นสถานการณ์มีความรุนแรงมาก ก็มองว่าผลผลิตยางน่าจะหายไปประมาณ 20% ขณะที่ต่างประเทศยังมีความต้องการซื้อเพื่อสต๊อกของไว้ คาดว่าจะทำให้ราคายางในประเทศดีขึ้น
นายชูวิทย์ กล่าวด้วยว่า อยากจะฝากถึงชาวสวนยางว่าให้ดูแลต้นยางดี ๆ เพราะหากอยู่ในภาวะแล้งจริง ฝนยังไม่ตก ก็ไม่ควรเริ่มเปิดกรีด หรือหากควรกรีดแล้ว ต้องเว้นวันให้ต้นยางมีวันพักมากขึ้น ก็จะช่วยถนอมต้นยาง ในช่วงภาวะที่น้ำฝนยังไม่ลงเต็มที่ ไม่เช่นนั้นต้นยางอาจจะยืนต้นตายได้
สอดคล้องกับ นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยผ่านงาน “Talk About Rubber” ครั้งที่ 7 ว่า แนวโน้มราคายางมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ยางของโลกที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ยอดขายรถยนต์ และการผลิตล้อยาง ซึ่งสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา (USTMA) คาดการณ์ว่าในปี 2566 ยอดจัดส่งรถยนต์ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตยางทั่วโลกยังคงเติบโตน้อย ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลผลิตคือ ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้ปริมาณฝนน้อยกว่าทุกปี อากาศแล้ง แม้เริ่มมีฝนตกในบางพื้นที่ แต่อากาศร้อนยังทำให้หลายพื้นที่ไม่สามารถเปิดกรีดยางได้ ปัจจัยดังกล่าวเป็นผลดีต่อราคายางในอนาคต
สถานการณ์การส่งออกยางพาราโลก ปี 2560-2565 ไทยส่งออกยางมากที่สุดในโลก โดยตัวเลขคาดการณ์การส่งออกยางไทย ปี 2566 อยู่ที่ 4.275 ล้านตัน พบว่าในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2566 ไทยส่งออกยางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564 และ 2565 อินโดนีเซียมีปริมาณการส่งออกยางลดลงตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากรัฐบาลไม่สนับสนุนราคายาง และเกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่ราคาสูงกว่า เช่น ปาล์มน้ำมัน
ส่วน “เวียดนาม” การส่งออกยางสูงขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่าปี 2566 ปริมาณการส่งออกยางของอินโดนีเซีย และเวียดนามจะใกล้เคียงกัน แต่ยังน้อยกว่าประเทศไทยกว่าเท่าตัว ประเทศผู้นำเข้าหลักยางพาราจากไทย ปี 2561-2565 ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จีนนำเข้ายางจากไทยมากที่สุด โดยในเดือน ม.ค.- ก.พ. 2566 มีสัดส่วนมากถึง 55% รองลงมา คือ มาเลเซีย 13% ตามด้วยสหรัฐฯ 4% และญี่ปุ่นในปริมาณใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ยังต้องติดตามการนำเข้ายางของสหรัฐต่อไป เนื่องจากยังอยู่เพียงช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เท่านั้น ส่วน“เกาหลีใต้” นำเข้ายางจากไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบปี 2562 เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตยางล้อส่งออกไปสหรัฐฯ
สถานการณ์ของประเทศผู้ปลูกยางสำคัญ
“อินโดนีเซีย” เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปริมาณส่งออกยางลดลง 7% เทียบกับเดือนเดียวกันในปีผ่านมา เนื่องจากผลผลิตยางที่ลดลงเป็นผลจากราคายางที่ตกต่ำ
“มาเลเซีย” เดือนมกราคม 2566 ผลผลิตยางลดลง 40% เมื่อเทียบจากเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคายางตกต่ำ และเกษตรกรหันไปปลูกปาล์มที่ราคาสูงกว่า
“เวียดนาม” ตั้งแต่ปี 2557 – 2565 พื้นที่กรีดของเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการส่งออกยางของเวียดนามไปยังตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปริมาณส่งออกยางลดลง 3% เทียบกับเดือนเดียวกันในปีผ่านมา
“จีน” พื้นที่มณฑลยูนนานมีผลผลิตยางน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคราแป้ง อุณหภูมิสูง และปริมาณน้ำฝนที่น้อยลง
นางสาวอธิวีณ์ กล่าว ช่วงปิดกรีดของไทย (ก.พ. – เม.ย. 66) คาดว่าผลผลิตรายเดือนจะอยู่ในช่วง 0.25 – 0.37 ล้านตัน เมื่อเปิดกรีดผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงธันวาคมจะอยู่ที่ 0.49 ล้านตัน (เป็นไปตามปริมาณผลผลิตปกติของประเทศไทยทุกปี)เฉลี่ยผลผลิตประเทศไทยจะออกมากที่สุดในช่วงมกราคม และน้อยที่สุดในช่วงเมษายน
ส่วนปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ปริมาณฝนน้อยกว่าทุกปี อากาศแล้ง แม้มีฝนตกในบางพื้นที่แล้ว แต่อากาศร้อนยังทำให้หลายพื้นที่ไม่สามารถเปิดกรีดยางได้ เกษตรกรชาวสวนยางควรวางแผนหาแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร
สถานการณ์ยางพาราปี 2566
โอกาส
BCG Metric อุตสาหกรรมยาง พบว่า สินค้าประเภทกลุ่มดาวที่มีความโดดเด่น และควรได้รับการสนับสนุน ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางล้อ และผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์
สินค้าประเภทกลุ่มทำเงิน ได้แก่ น้ำยางข้น ยางผสม และถุงมือยาง ทั้งนี้ “สินค้าอุตสาหกรรมยางกลางน้ำ และปลายของไทยที่ส่งออกหลัก 3 อันดับ ได้แก่ ยางแท่ง ยางผสม และน้ำยางข้น ถูกจัดอยู่ในกลุ่มดาวและกลุ่มทำเงิน