นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตยางพาราน้ำมวบ-ส้านนาหนองใหม่ ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมในเรื่องการขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัดน่าน ซึ่งมีผลให้เกษตรกรไม่ได้รับสิทธิ์ค่าชดเชยในส่วนต่างที่ควรจะได้รับ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งหากเป็นจริง กยท. ควรจะหาทางช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกร เข้าถึงนโยบายรัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ด้าน นายพริม เอื้องแก้ว ตัวแทนเกษตรกร กล่าวว่า ตัวแทนชาวสวนยางได้ไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดน่าน สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ กยท. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำไห้เกษตรกรชาวสวนยางกลุ่มวิสากิจฯตกหล่นในการขึ้นทะเบียน 103 คน และไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล
“ย้อนเหตุการณ์ กยท. ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผลิตยางพาราให้ขึ้นทะเบียนเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งทางกลุ่มก็ได้ประสานไปยัง กยท.จังหวัดน่าน และทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าจะนัดวันและเวลาอีกครั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ทาง กยท.ได้นัดหมายให้ทางกลุ่มไปในวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ซึ่งทางกลุ่มก็ได้เดินทางไปตามวันดังกล่าว แต่เจ้าทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าวันนี้ทำไม่ทัน “คิวเต็ม” จึงนัดใหม่ ให้กลุ่มมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 แล้วรับปากว่าจะทำให้ย้อนหลังให้ในช่วงระยะเวลา 3 วัน”
นายพริม กล่าวอีกว่า ต่อมาได้มีการประกาศรายชื่อเกษตรกร ซึ่งทางกลุ่มได้ตรวจสอบพบว่าไม่มีรายชื่อ จึงได้สอบถามไปยังที่สำนักงานใหญ่ของ กยท. ได้รับแจ้งกลับมาว่า “คนที่ขึ้นทะเบียนหลังวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จะไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล (ซึ่งกลุ่มฯ ได้ไปขึ้นทะเบียนวันที่ 1 กรกฎาคม ตามข้อ 4) ดังนั้นทางกลุ่มจึงได้ทำหนังสือถึงสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และศูนย์ดำรงธรรม เพื่อให้ช่วยเหลือและขอความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรให้ได้รับสิทธิ์ในโครงการประกันรายได้ยางพารา ระยะที่ 4
ขณะที่นายโกศล บุญคง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการผลิต กยท. กล่าวว่า ได้ติดตามในเรื่องนี้แล้วได้ ทางคณะฯ ได้แจ้งว่า จะเข้ากรรมการอุทธรณ์ต่อไป ทาง กยท.ยืนยันว่าเงินที่ผ่านเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีเหลือ แล้วกันเงินไว้สำหรับในกรณี อาทิ เจ้าหน้าที่ขึ้นทะเบียนไม่ทัน ซึ่งก็มีกลุ่มเกษตรกรก่อนหน้านี้ช่วยให้ได้เงินประกันรายได้ยางพาราไปแล้วเป็นจำนวนมากที่มีตกหล่นในลักษณะนี้ ดังนั้นไม่ต้องห่วง
"วัตถุประสงค์ของโครงการประกันรายได้เกษตรกร เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง ในกรณีที่ราคายางตกต่ำ ในช่วงวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ปัจจุบันผ่านการรับรองสิทธิแล้วจำนวน 1,049,022 ราย จำนวน 13,166,827.79 ไร่ ผลการดำเนินงานร้อยละ 80.77 และดำเนินการส่งจ่ายทั้งสิ้น เจ้าของสวน 967,325 ราย จำนวนเงิน 3,617,920,565.61 บาท คนกรีด 81,822 ราย เป็นเงิน 140,919,332.45 บาท รวมทั้งสิ้น จำนวน 21,797,104.6696 ไร่ เป็นเงิน 3,758,839,898.06 บาท
อนึ่ง มติ ครม. 28 ก.พ.66) วงเงิน 7,643.86 ล้านบาท มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2566 ระยะเวลาประกันรายได้รวม 2 เดือน คือ ตุลาคม- พฤศจิกายน 2565
เกษตรกรชาวสวนยาง สามารถตรวจสอบข้อมูลการลงทะเบียน และตรวจสอบสิทธิประกันรายได้ยางพารา เฟส 4 ได้ที่ https://www.raot.co.th/gir/index/
ทั้งนี้ เกษตรกรยางพารา ชาวสวน สามารถ ตรวจสอบสถานะการโอนเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา แบบอัพเดทได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่ https://chongkho.inbaac.com/