เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนมาตรการให้เป็นรูปธรรมจะเพียงพอหรือไม่ ประกอบกับมีหลายสำนักพยากรณ์ที่ต่างออกมาว่าปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรง ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่โดนผลกระทบรุนแรงที่สุด ในรอบ 74 ปี จะทำให้รายได้ต่อหัวของคนไทยลดลง 5.0-7.5%
ต่อกรณีดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ถึงทิศทางและการการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับเมืองเอลนีโญในประเทศไทย ผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้นของโลก
ยันไม่มีสุญญากาศ งัด 12 มาตรการสู้
ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า ในภาพรวมทาง กอนช. ได้มีการประเมินสถานการณ์ว่ามีแนวโน้มที่จะเข้าสู่เอลนีโญ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 จำนวน 12 มาตรการ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการดังกล่าว เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในฤดูฝน และมาตรการรับมือฝนทิ้งช่วง ได้แก่ 1.เตรียมหน่วยงานต่างๆ เตรียมพร้อมในเรื่องเครื่องจักรและเครื่องมือในการที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่มีโอกาสฝนทิ้งช่วง (คลิกอ่าน)
2.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ก็ได้เตรียมความพร้อม โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรที่อาศัยน้ำฝน ส่วนในพื้นที่เกษตร กรมชลประทาน ไม่มีปัญหา เพราะน้ำในเขื่อนปีที่ผ่านมาภาคเกษตรเก็บกักไว้ เพราะฉะนั้นในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงกรมชลประทานก็สามารถที่จะเอาน้ำมาช่วยเหลือในพื้นที่การเกษตรได้อยู่แล้ว
ส่วนพื้นที่นอกชลประทานมีโอกาสเสี่ยงในหลาย ๆ พื้นที่ เพราะว่าปีนี้ถ้าเป็นเอลนีโญ เพราะขนาดเป็นปีที่ปกติ ฝนช่วงนี้ก็ยังต้องใช้ฝนหลวงช่วยบินปฎิบัติการ รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก็ขนทั้งเครื่องจักรและเครื่องมือออกมาช่วยกันเต็มที่ เรียกว่า ถ้าพื้นที่ไหนเริ่มประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง (คลิกอ่าน) ก็จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปช่วยเสริมที่จะต้องอำนวยการสูบน้ำหรือ รถขนน้ำไปช่วย ผ่านมติ ครม.ไปเรียบร้อย ยืนยันไม่มีสุญญากาศ ไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะทุกหน่วยงานรัฐเป็นหน่วยงานปกติ จะต้องนำมาตรการให้นำไปทำแผนปฏิบัติการทั้งหมด แล้วให้ สทนช.ติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้ากรณีมีความจำเป็น หากหน่วยงานของภาครัฐ หากไม่เพียงพอต้องเสนอของบกลาง
เขื่อนวิกฤติน้อย กว่า 30%
สำหรับปีนี้ ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 มี แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 43,258 ล้าน ลบ.ม. (53%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 38,827 ล้าน ลบ.ม. (54%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,673 ล้าน ลบ.ม. (47%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำ 1,758 ล้าน ลบ.ม. (34%) ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล,เขื่อนสิริกิติ์,เขื่อนแควน้อยและเขื่อนป่าสักฯ ) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 5,346 ล้านลูกบาศก์เมตร (29%) ซึ่งโดยปริมาณฝนมีแนวโน้มใกล้เคียงกับ ปี 2562 แต่ปริมาณน้ำปีนี้ต้นทุนมากกว่าปี 2562
แต่ก็ประมาทไม่ได้ ต้องมาลุ้นว่าพายุหมุนเขตร้อน 1-2 ลูก จะเข้ามายังประเทศไทยหรือไม่ หรืออย่างไร ต้องมาติดตามตอนนั้น ซึ่งในขณะนี้เขื่อนที่อยู่ในขั้นวิกฤติน้ำอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อยกว่า 30 % จำนวน จำนวน 12 อ่างฯ ได้แก่ อ่างฯสิริกิติ์ (19%)อ่างฯ แควน้อยบำรุงแดน (21%)อ่างฯแม่มอก (22%)อ่างฯจุฬาภรณ์ (17%)อ่างฯอุบลรัตน์(11%)อ่างฯสิรินธร (21%) อ่างฯ ป่าสักชลสิทธิ์(17%)อ่างฯวชิราลงกรณ์(19%)อ่างฯขุนด่านปราการชล(18%)อ่างฯคลองสียัด (17%)อ่างฯ นฤบดินทรจินดา (20%) และ อ่างฯ ปราณบุรี(16%) แต่ตอนนี้เข้าสู่ฤดูฝน ก็ยังสามารถที่จะดูแลได้ในช่วงนี้อยู่ ถ้ามีฝนเข้ามาก็จะเข้าไปเติมเต็ม
“ได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตว่าเห็นสมควรที่จะบริหารน้ำข้ามไปถึงปี 2567 เพราะจะแค่บริหารจัดการน้ำแค่ปีเดียวไม่ได้ เพราะจะเป็นเอลนีโญต่อเนื่องไปก็จะทำให้การบริหารจัดการน้ำต้องอย่างน้อย วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 จะต้องมีน้ำให้มากที่สุดเพื่อจะรองรับในฤดูแล้งปี 2568 เพราะฉะนั้น ในปีแล้งปี 2567 มีแนวโน้มอาจจะขอให้งดทำนาปรัง”
ดังนั้นอยากให้ทุกคนเริ่มการใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า ทำให้เป็นนิสัยประจำวัน 2.พื้นที่ไหนหากสามารถทำเป็นแหล่งน้ำของตัวเองได้ในเรื่องความเสี่ยงของตัวเองในเบื้องต้นก่อนเป็นเรื่องทีดีที่สุดให้ทุกคนดำเนินตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกด้านหนึ่งก็ต้องมาดูว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากเอลนีโญมากน้อยอย่างไรจะเป็นลักษณะของการพยากรณ์หรือไม่นั้น
“เราควรที่จะกังวลขนาดนั้นหรือไม่ เราก็ไม่ประมาท เพราะนั่นคือ การคาดการณ์ แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงกี่เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอากาศในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงง่าย แล้วก็ไม่ได้ถูกต้อง 100% เหมือนกับหมอดูดวง ก็ไม่ได้ถูกต้อง 100% แต่ถ้าเรามีการบริหารจัดการที่ดี เช่น ถ้าทุกคนร่วมมือกัน 2.หน่วยงานภาครัฐทำเต็มที่ มี 12 มาตรการรองรับ 3.มีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำคัญในเรื่องเขื่อนต่างๆที่ดูแลอยู่ เพราะเราไม่ได้บริหารจัดการน้ำเป็นรายปีแล้ว เราบริหารจัดการน้ำอย่างน้อย 2 ปี น้ำทุกหยดในอ่างเก็บน้ำมีความสำคัญทั้งหมด เพื่อที่จะประหยัดน้ำให้มากที่สุด ก็เชื่อว่าหากทำเต็มที่ หากเกิดเหตุอะไรที่รุนแรงฝนไม่ตกทั้งปีเลย ก็เป็นเรื่องที่ช่วยยาก แต่คาดว่าจะไม่รุนแรงแบบนั้นแน่นอน”
เตรียมดึงน้ำใต้ดินใช้ ในกรณีวิกฤติรุนแรง
อย่างไรก็ดีในกรณีที่เอลนีโญต่อเนื่อง และมีความรุนแรง เรียกว่า ถ้าน้ำบนฟ้าไม่มีฝน หรือเก็บกักน้ำไม่ได้ ก็คงจะต้องไปขุดน้ำใต้ดินมาใช้เพิ่มมากขึ้นก็ได้มีการเจรจากับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลไว้เรียบร้อยแล้วให้ เตรียมแผนขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติมซึ่งมีมีปริมาณกว่า 4 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันใช้กว่า 1 หมื่นลูกบาศก์เมตร เพราะฉะนั้นยังเหลืออีกกว่า 3 หมื่นล้านที่จะพัฒนานำมาใช้ได้ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าประเทศไทยยังอุดมสมบูรณ์ เพียงแต่ว่าเราจะบริหารกันอย่างไร และเชื่อว่าไม่วิกฤติรุนแรง แต่ก็ไม่ประมาท
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,892 วันที่ 1-3 มิถุนายน พ.ศ. 2566