ส่งออกสินค้าปศุสัตว์สดใส 4 เดือน 8.5 หมื่นล้าน “ไก่สด” พุ่งแรงสุด

03 มิ.ย. 2566 | 02:44 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2566 | 02:55 น.

กรมปศุสัตว์ เผย 4 เดือนส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยยังสดใส โต 8.5 หมื่นล้าน กู้หน้าภาพรวมส่งออกไทยที่ยังติดลบ ชูสินค้าเด่น ไก่สดแช่แข็ง เนื้อ นมไข่ อาหารกระป๋อง ลูกค้ายังออร์เดอร์เพิ่ม ขณะได้ตลาดใหม่ “ออสเตรเลีย-จีน-เม็กซิโก”ช่วยเสริม สั่งคุมเข้มมาตรฐานมัดใจคู่ค้า

กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการส่งออกไทยเดือน เม.ย.2566 มีมูลค่า 21,723.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (737,788 ล้านบาท) ลดลง 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 7.3% โดยการส่งออกไทยยังติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดีในกลุ่มสินค้าเกษตรพบว่าการส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม หนึ่งในนั้นเป็นสินค้าปศุสัตว์

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากรายงานข้อมูลการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของไทยช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีปริมาณส่งออกรวม 7.96 แสนตัน มีมูลค่าการส่งออกรวม 85,059 ล้านบาท(+1.4%) โดยสินค้าที่ยังมีการส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ เนื้อสัตว์แช่เย็น/แช่แข็ง มีปริมาณส่งออก 356,748 ตัน คิดเป็นมูลค่า 48,073 ล้านบาท (+11.5%), ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์นม ไข่ และ อาหารกระป๋อง ฯลฯ มีปริมาณส่งออก 98,066 ตัน มูลค่า 8,793 ล้านบาท (+5.4%) เป็นต้น

“สินค้าที่ยังเติบโต อาทิ เนื้อไก่สดแช่แข็งที่เป็นสินค้าส่งออกหลัก มีปริมาณส่งออก 3.4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 46,596 ล้านบาทโดยมูลค่าเพิ่มขึ้น 11% ประเทศคู่ค้าหลักได้แก่ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย มีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 และการเพิ่มขึ้นของความต้องการบริโภคอาหารจากเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อไก่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นอาหารโปรตีนที่มีไขมันตํ่า รวมทั้งยังมีราคาถูกเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ”

ส่งออกสินค้าปศุสัตว์สดใส 4 เดือน 8.5 หมื่นล้าน “ไก่สด” พุ่งแรงสุด

ขณะเดียวกัน ประเทศคู่ค้ามีความเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตเนื้อไก่ของไทย ซึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมป้องกัน และเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ที่เข้มงวด ทำให้ไทยไม่มีรายงานการพบโรคไข้หวัดนกในประเทศ นับตั้งแต่ ปี 2551 เป็นต้นมา รวมทั้งการกำกับควบคุมดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองโรงงานเพิ่มมากขึ้นจากประเทศคู่ค้า เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ จีน เป็นต้น และยังมีการเจรจาเพื่อขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ เช่น กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GULF) อินเดีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าในอนาคต

นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวอีกว่า การเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ที่ประสบผลสำเร็จในปี 2566 อาทิ เครือรัฐออสเตรเลียได้ประกาศอนุญาตอย่างเป็นทางการให้นำเข้าสินค้าเนื้อเป็ดปรุงสุกจากประเทศไทยได้ คาดจะมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1,200 ล้านบาทต่อปี ส่วนจีนได้ขยายขอบข่ายการอนุญาตนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ปีกของไทย ให้ครอบคลุมสินค้าผลพลอยได้จากเป็ดเพื่อการบริโภคจากเดิมอนุญาตเฉพาะเนื้อเป็ดเท่านั้น

ขณะที่เม็กซิโกได้ประกาศอนุญาตให้นำเข้าสินค้าอาหารว่างสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนประกอบจากสัตว์นํ้าและสัตว์ปีกจากประเทศไทยได้ จากเดิมอนุญาตให้นำเข้าได้เฉพาะอาหารว่างสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนประกอบจากสัตว์นํ้าล้วนเท่านั้น คาดจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไปยังทวีปอเมริกาเหนือได้เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากตลาดเดิมที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และแคนาดา

“กรมได้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาหารสัตว์เลี้ยงครบวงจร (Pet Food Service Center) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงไทยในด้านของการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์เลี้ยง การรับรอง การตรวจสอบมาตรฐาน และการออกหนังสือรับรองสุขอนามัยอาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อการส่งออกแบบครบวงจร ซึ่งอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย จากมีการใช้วัตถุดิบที่เป็นผลพลอยได้จากสัตว์ เป็นส่วนหนึ่งในผลิตภัณฑ์”

 นอกจากนี้บีโอไอ มีการสนับสนุนการลงทุนตั้งโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยง ส่งผลให้ ณ ปัจจุบันมีทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศ ขอรับการส่งเสริมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไทยยังขยายตัวได้อีกมากในระยะยาว