เสียงของเกษตรกรรายย่อย(Smallholder) ได้ดังก้องในที่ประชุม GPSNR โดยตนได้พูดในสิ่งที่ทุกคนไม่กล้าพูด นั่นก็คือเรื่องราคายางที่ไม่เป็นธรรม เพราะ Platform นี้ประประกอบด้วย 5 ภาคส่วน คือ บริษัทรถยนต์ บริษัทยางล้อ บริษัทค้ายาง NGOs และเกษตรกรรายย่อย
การพูดเรื่องราคายางเป็นเรื่องที่อ่อนไหว (Sensitive) แต่ตนจำเป็นต้องพูด เพราะเป็นคณะกรรมการ หรือบอร์ด GPSNR(EC) 2 สมัย จะครบ 4 ปี ในเดือนกันยายนปีหน้า แต่ทุกคนในที่ประชุมได้ระมัดระวังในการพูดเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่ หลักคิดของ GPSNR คือสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในเรื่องราคายางตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
“ผมบอกว่าเกษตรกรไทยและเกษตรกรชาวสวนยางทั่วโลก อยากได้ราคายางที่สูงกว่านี้ เพราะไม่คุ้มทุน รายได้ไม่พอรายจ่าย จึงขอให้ GPSNR ช่วยพิจารณา เช่น ถ้าสามารถลดห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain) ให้สั้นลงได้ ราคายางที่เกษตรกรได้รับจะสูงกว่านี้ หรือการสร้างราคายางพรีเมียมจากสวนยางยั่งยืน
ตอนที่ผมพูดทุกคนนั่งฟังอย่างตั้งใจ และบางคนก้มหน้า เมื่อผมพูดถึงประโยคที่ว่า วันนี้เวทีแห่งนี้ดูเหมือนจะให้เกษตรกรทำทุกวิถีทางเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีใครช่วยพูดหรือหาวิธีการที่จะทำให้ราคายางสูงขึ้น” นายสุนทรระบุ สิ่งที่ตนเองได้พูด รวมถึงบรรยากาศในที่ประชุม
และกล่าวต่ออีกว่า อาจมีผู้ใช้ยางหลายบริษัทได้ลงขันกันช่วยเหลือและยกระดับขีดความสามารถเกษตรกรรายย่อย แต่ก็แค่งบ CSR ที่เฉกเช่นการปลอบประโลม และไม่ใช่แนวทางที่เกษตรกรรายย่อยต้องการ หรือเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด
การมีข้อกำหนดให้เกษตรกรต้องทำโน่นทำนี่เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีแต่จะเป็นการเพิ่มภาระและเพิ่มต้นทุนให้แก่เกษตรกร ในขณะที่ราคายางสวนทางกับต้นทุนที่เกษตรกรต้องแบกรับจากการรักษ์โลก เพราะราคายางมีแนวโน้มจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ
“ผมพูดหนักถึงขนาดว่า คุณรู้ไหมมีเกษตรกรชาวสวนยางไทยผูกคอตายไปไม่รู้กี่คน ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จากปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายและภาระหนี้สิน ผมรู้ว่าผมพูดแรง แต่ต้องการเตือนสติ ให้ทุกคนช่วยรับผิดชอบชีวิตเกษตรกรรายย่อยทั้งโลก ผมไม่อยากมองในแง่ร้ายว่าทุกคนเอาเกษตรกรรายย่อยมาเพื่อกล่าวอ้าง หรือทำให้ครบองค์ประกอบ แต่ละเลยและไม่ให้ความสำคัญอย่างแท้จริง ผมจึงสรุปเป็นคำถามว่า แล้วจะมี GPSNR ไปเพื่ออะไร”
ในช่วงท้าย นายสุนทรได้เชิญชวน GPSNR มาร่วมประชุมสมัชชาสวนยางยั่งยืนระดับสากลที่ประเทศไทยในเดือนสิงหาคม ร่วมกับเกษตรกรชาวสวนยางไทย การยางแห่งประเทศไทย สมัชชาสวนยางยั่งยืน และองค์กรอื่น ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความร่วมมือถึงแนวทางการสนับการทำสวนยางยั่งยืน และหารือเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการประกาศใช้ EUDR หรือกฎหมายของสหภาพยุโรป(EU) ที่จะไม่ซื้อผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มาจากพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า(Deforestation)
ทั้งนี้มีเป้าหมายคือ 1.การตั้งกองทุนสนับสนุนการทำสวนยางยั่งยืนในระดับโลก และ 2.เตรียมความพร้อมของเกษตรกรไทยรองรับการประกาศใช้ EUDR หรือการบังคับใช้กฎหมายของสหภาพยุโรปที่จะไม่ซื้อผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่มาจากพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้เพื่อให้รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาสงครามการค้า( Trade War) จากกฎหมาย Deforestation ที่จะส่งผลกระทบต่อราคายางและปาล์มน้ำมัน