ราคาไข่ไก่ขึ้น-ลงตามกลไกตลาด ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมีอะไรบ้าง?

19 มิ.ย. 2566 | 10:39 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2566 | 11:00 น.

ผศ.ดร.วริพัสย์ เจียมปัญญารัช สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความเรื่อง “ราคาไข่ไก่ขึ้น-ลงตามกลไกตลาด และปัจจัยที่เข้ามากระทบ” ดังนี้

ราคาไข่ไก่ที่เพิ่มสูงขึ้นการปรับของราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เป็นที่สนใจในขณะนี้สาเหตุจากไข่ไก่เป็นโปรตีนขั้นพื้นฐานหลักของประกอบอาหารเกือบทุกครัวเรือนการปรับราคาขึ้น-ลงของไข่ไก่ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายของแต่ละครัวเรือน จากสถิติสองทศวรรษที่ผ่านมาระดับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ระหว่างช่วงราคา 2.20-3.50 บาทต่อฟองมาโดยตลอด เพิ่งจะมีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงพฤษภาคม 2566 นี้ ตามประกาศของสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ที่แจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรอยู่ที่ 3.80 บาท มีผลวันที่ 15 พ.ค. 25662  

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาไข่ไก่มีหลายปัจจัยหลากหลาย ตามกลไกการทำงานของห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรที่เป็นสิ่งมีชีวิตอย่าง “ไก่ไข่” ที่ค่อนข้างอ่อนไหวสูง ปัจจัยกระทบเพียงเล็กน้อยจะส่งผลถึงขนาดและปริมาณของไข่ไก่ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อราคาและรายได้ของเกษตรกรตามมา

ราคาไข่ไก่ขึ้น-ลงตามกลไกตลาด ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมีอะไรบ้าง?

กลไกตลาด หรือ อุปสงค์-อุปทาน หมายถึงความสมดุลระหว่างปริมาณสินค้ากับความต้องการสินค้านั้น ตัวอย่างเช่น สินค้าที่ผลิตได้ในปริมาณมากกว่าความต้องการบริโภคสินค้านั้นจะมีราคาลดลงซึ่งอาจจะส่งผลขาดทุนต่อผู้ผลิต ขณะที่สินค้าใดมีปริมาณผลผลิตน้อยกว่าความต้องการบริโภคเกิดภาวะขาดแคลนส่งผลต่อการปรับตัวของราคาสูงขึ้นสูง

เมื่อพิจารณากลไกตลาดของไข่ไก่จะเห็นได้ว่าการปรับตัวของราคาไข่ไก่ขึ้นกับหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อกลไกตลาด กรณีเกษตรกรผู้ผลิตไข่ไก่มีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก เช่น ฤดูกาล ต้นทุนการขนส่ง ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์นำเข้าที่มีราคาสูง ส่วนกรณีผู้บริโภค ราคาไข่ไก่ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ กลไกการตลาดเป็นวงจรหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างผลผลิตและราคาที่ต้องทำความเข้าใจและลดการสูญเสียโอกาสของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในตลาดสินค้าเกษตร

การเปิดโอกาสให้เกษตรกรนำผลผลิตตามต้นทุนที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลผลิตนั้น เข้าสู่กลไกการตลาดอย่างแท้จริงจะเป็นโอกาสที่ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้บริโภคได้เรียนรู้ต้นทุนที่เกิดจริงจากผลผลิตตามกลไกตลาด จะส่งผลต่อการลดการเกิดภาวะสินค้าขาดแคลนและราคาปรับสูงขึ้นเกินราคาที่ควรจะเป็นตามกลไกตลาด 

ราคาไข่ไก่ขึ้น-ลงตามกลไกตลาด ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาไข่ไก่ตามที่กล่าวมามีหลายปัจจัย เช่น เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม  โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนมากที่สุดในช่วงนี้ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ ที่มีราคาของวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นตัวแปรสำคัญ เนื่องจากวัตถุดิบอาหารไก่ไข่นำเข้ามาจากประเทศยูเครนที่กำลังมีภัยสงครามต่อเนื่องมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 ประเทศยูเครนเป็นแหล่งเพาะปลูกธัญพืชแหล่งใหญ่ของโลกส่งผลให้ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ในตลาดโลกขาดแคลนเนื่องจากปริมาณการผลิตและอุปสรรคจากการขนส่งทำให้ราคาวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการผลิตอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ส่งผลกระทบต่อต้นทุนหลักของเกษตรกรภาคปศุสัตว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่มีการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและโลกทำให้ต้นทุนการผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นทันที

อากาศที่แปรปรวน เป็นปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตไข่ไก่ ฤดูร้อนที่ยาวนานและร้อนมากกว่าทุกปีและฤดูฝนที่มาช้ากว่าทุกปีทำให้แม่ไก่มีภาวะเครียดออกไข่ขนาดเล็กลงและปริมาณลดลงเป็นการซ้ำเติมเกษตรกร ดังที่รองอธิบดีกรมการค้าภายใน รายงานว่าปริมาณไข่ไก่ขนาดเล็กในท้องตลาดมีเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 50% ขณะที่ปริมาณไข่ไก่ขนาดใหญ่ลดลง จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้คาดได้ว่าปริมาณไข่ไก่และไข่ไก่ทุกขนาดจะกลับเข้าสู่ตลาดเหมือนภาวะปกติเมื่ออากาศร้อนจัดผ่านไป3

ขณะเดียวกันปัจจัยเรื่องเทศกาลก็มีผลกระทบต่อความต้องการและราคาไข่ไก่เช่นกัน อาทิ เทศกาลกินเจ เทศกาลสงกรานต์ การเปิด - ปิดภาคการศึกษาของนักเรียนมีความสัมพันธ์กับปริมาณความต้องการของไข่ไก่ เช่น ความต้องการไข่ไก่ในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน มีปริมาณสูง ปัจจัยหนึ่งมาจากการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนประกอบกับปริมาณการผลิตไข่ไก่ได้ในปริมาณน้อยเนื่องจากอากาศที่ร้อนจัดในเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

ราคาไข่ไก่ขึ้น-ลงตามกลไกตลาด ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมีอะไรบ้าง?

สำหรับการส่งออกไข่ไก่ หรือปลดแม่ไก่ยืนกรง มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีภาวะไข่ไก่ล้นตลาดเพื่อรักษาสมดุลของกลไกตลาดของไข่ไก่ให้มีเสถียรภาพราคา ดังเช่นช่วงมีนาคมที่ผ่านมาไทยส่งออกไข่ไก่ไปไต้หวัน 5-8 ล้านฟอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกในจำนวนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตทั้งหมดของประเทศ4

สรุปได้ว่าการปรับราคาไข่ไก่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอาหารโปรตีน ปัจจัยที่เข้ามากระทบกับปริมาณและราคาไข่ไก่ ได้แก่ ต้นทุนการผลิต เศรษฐกิจ ฤดูกาล และเทศกาล โดยปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาดด้วยตัวเอง จะเห็นได้ว่าการปรับราคาของไข่ไก่ตามกลไกตลาดจะส่งผลต่อความสมดุลระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคในที่สุด