ภาคการส่งออก เครื่องยนต์ใหญ่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตัวเลขยังสะดุดติดลบ 7 เดือนต่อเนื่อง (ต.ค.2565-เม.ย.2566) ผลพวงจากเศรษกิจโลกซบเซา ภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศยังทรงตัวระดับสูง สวนทางกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ส่งผลสต๊อกสินค้าของคู่ค้ายังมีมาก ทำให้ 4 เดือนแรกปีนี้ส่งออกไทยยังติดลบ 5.2% ซึ่งเดือนที่เหลือของปีนี้ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องแก้เกมเร่งด่วน เพราะหากภาคการส่งออกที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีไทยเกือบ 60% ยังไม่สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ ย่อมมีผลกระทบตามมาอีกมากมาย
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนได้ตั้งเป้าหมายในการทำงานร่วมกันว่า การส่งออกของไทยในปี 2566 อาจเติบโตได้ที่ 1-2% ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เชื่อมโยงการทำงานระหว่างทูตพาณิชย์กับพาณิชย์จังหวัด และภาคเอกชน โดยได้ประชุมร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์ ทิศทางการส่งออกครึ่งปีหลัง และปรับแผนการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกให้ตอบสนองต่อความท้าทาย พร้อมเตรียมเร่งส่งเสริม 350 กิจกรรม โดยกำหนดเป้าหมายใน 7 ภูมิภาค ได้แก่ อาเซียน จีนและฮ่องกง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ตะวันออกกลางและแอฟริกา อเมริกาเหนือ และลาตินอเมริกา และยุโรป เพื่อขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ทั้งนี้มีกลยุทธ์สำคัญ คือ เดินหน้าเปิดตลาดใหม่ รักษาตลาดเดิม และฟื้นฟูตลาดเก่า ด้วยกลยุทธ์สำคัญ อาทิ การเร่งจัดคณะผู้แทนการค้าเพื่อขยายตลาดศักยภาพ การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน การจับคู่เจรจาธุรกิจทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การผลักดันการส่งออกสินค้า BCG (Bio-Circular-Green) และสินค้านวัตกรรมใหม่ การส่งเสริมธุรกิจบริการมูลค่าสูง โดยเฉพาะดิจิทัลคอนเทนต์ HORECA ร้านอาหาร Thai Select และการปูพรมเจาะตลาดเมืองรอง โดยเฉพาะในอาเซียนและอินเดีย
“การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ที่ติดลบ 4.5% มองว่าผ่านจุดตํ่าสุดมาแล้ว และในไตรมาสที่ 2 คาดการณ์ว่าน่าจะยังติดลบอยู่แต่อาจจะติดลบน้อยลง เนื่องจากเริ่มมีสัญญาณคำสั่งซื้อเข้ามาบ้างแล้วในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 โดยคาดว่าในครึ่งปีหลังไตรมาสที่ 3 และ 4 การส่งออกไทยจะสามารถกลับมาเป็นทิศทางที่เป็นบวกได้”
นอกจากนี้ในสินค้ากลุ่มอาหารแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง คู่ค้ายังมีสต๊อกสินค้าเกินมากถึง 6-9 เดือนจากปกติเพียง 3 เดือนเท่านั้น รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้คนได้กลับมาดำเนินชีวิตแบบปกติ ยกเลิกการทำงานที่บ้าน คาดสต๊อกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะยังคงค้างไปจนถึงครึ่งปีหลัง ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป ยังเผชิญแรงกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง การฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ล่าช้ากว่าที่คาดทำให้เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังยังอยู่ในภาวะชะลอตัวจนกว่าประเทศใหญ่เช่นจีนจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา
ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ล่าสุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 2% ต่อปีถือเป็นต้นทุนทางการเงินที่สำคัญของผู้ประกอบการ ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังคงสูง อาทิ ค่าไฟฟ้า ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย ขณะที่ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล อาจส่งผลต่อแผนผลักดันการส่งออกในครึ่งปีหลัง และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้นควรเร่งกระบวนการในการจัดตั้งรัฐบาล
“แม้ปัจจัยเสี่ยงในปี 2566 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อพิจารณาจากฐานข้อมูลเทียบกับการส่งออกปี 2565 แล้วนั้น สรท. คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะสามารถฟื้นตัวแบบเร่งได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 หรือกลับมาขยายตัวอีกครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ด้วยปัจจัยสนับสนุน อาทิ ปัญหาการขาดแคลนชิปคลี่คลาย ปริมาณสต๊อก สินค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มปรับลดลง การกลับมาเปิดประเทศของจีน ส่งผลให้สินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ของไทยมีแนวโน้มเริ่มปรับตัวดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 0 - 1% หากไม่มีปัจจัยอื่น ๆ มากระทบและซํ้าเติมการส่งออกในครึ่งปีหลังที่กำลังจะถึง”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.ส่งออกไทยปีนี้จะอยู่ที่ -1% ถึง 0% ซึ่งเดิมคาดการณ์กันว่าในไตรมาสที่ 3 ย่างไตรมาส 4 ภาคการส่งออกไทยอาจจะพลิกกลับมาได้ แต่ล่าสุดจากที่สหรัฐฯประกาศว่าปีนี้จะยังขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้ง ดังนั้นจึงมองว่าตลาดต่างประเทศปีนี้ยังไม่ค่อยดี และภาวะเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวระดับสูงในหลายประเทศยังกดดันกำลังซื้อ
“เพื่อผลักดันการส่งออกให้กลับมาขยายตัวเป็นบวกภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการเจาะตลาดใหม่ ๆ เช่น ตะวันออกกลาง และอื่น ๆ เพิ่มการค้าขายในอาเซียน แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ของไทย ที่ตอนแรกคิดว่าจะดี ตอนนี้ตัวเลขออกมาก็ไม่ค่อยดี กำลังซื้อก็ยังไม่ค่อยดี จะเห็นว่าเวลานี้สินค้าของจีนก็มาดัมพ์ตลาดในอาเซียนเยอะขึ้น จากส่งไปทางอเมริกาและยุโรปได้ลดลง เนื่องจากเจอปัญหาถูกกีดกันการค้า และมีปัญหาเศรษฐกิจภายในด้วย”
ด้าน นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน 2566(ปีงบประมาณ)ทางกรมมีกิจกรรมในการผลักดันการส่งออกเหลืออีก 87 กิจกรรม เช่นโครงการ Thai Food Pop up store 2023 อาหาร/อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ผลไม้ ข้าว ขนมขบเคี้ยว เครื่องปรุงรส ผลไม้ไทย อาหารและเครื่องดื่มที่จีน , การส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้าในประเทศอียิปต์ (In-Store Promotion), โครงการส่งเสริมการขยายตลาดสินค้ากล้วยหอม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยหอมไทย เพื่อขยายตลาดส่งออกสู่ตลาดเมืองรองในญี่ปุ่น โครงการผลักดันผู้ประกอบการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสู่ตลาดโลกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่จัดทั่วโลก เป็นต้น
ขณะที่ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สนค.ได้วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกทั้งรายสินค้าและรายตลาดของปีนี้ โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าน่าจะขยายตัวในปีนี้ เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นข้าว อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง กลุ่มสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันรวมไปถึงได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว เช่น เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้สำหรับเดินทาง กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับการแพทย์และสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ตามเทรนด์รักสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
สำหรับตลาดที่คาดว่าจะขยายตัวสูงในปีนี้ คือ ตะวันออกกลาง CLMV อินเดีย จีน ส่วนตลาดที่คาดจะขยายตัวตํ่า ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น จากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ สำหรับเป้าส่งออกรายตลาดที่คาดจะขยายตัวเป็นบวก เช่น ตะวันออกกลาง คาดขยายตัว 20% เอเชียใต้ 10% อาเซียน 6.6% จีน และฮ่องกง 2% อเมริกาเหนือ 4.5% ยุโรป 4% ญี่ปุ่น2.5% อังกฤษ 1% และกลุ่ม CISโต 1% เป็นต้น
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3898 วันที่ 22 -24 มิถุนายน พ.ศ. 2566