มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ถือเป็น 1 ใน มาตรการสำคัญภายใต้แผนการปฏิรูปสีเขียว(European Green Deal) ที่สหภาพยุโรป หรืออียู 27 ประเทศ จะนำมาปรับใช้ในการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ลง 50-55% ภายในปี 2573 หรือ Fit for 55 Package และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2593
ทั้งนี้มาตรการ CBAM) ที่อียูนำมาใช้ เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงใน 6 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย อลูมิเนียม และไฮโดรเจน โดยจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้ ผู้ที่จะส่งสินค้าประเภทดังกล่าวไปอียู ซึ่งจะต้องจัดทำรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกรายไตรมาส (CBAM Declaration) ส่งให้สหภาพยุโรป ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกปรับตัวเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ผู้ส่งออกสินค้าจะต้องรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกพร้อมซื้อ CBAM Certificate หรือหลักฐานการชำระค่าคาร์บอนตามมาตรฐาน EU จากประเทศต้นทางของสินค้า ถ้าไม่มี CBAM Certificate ก็จะถูกเก็บค่าคาร์บอนจากประเทศที่ส่งสินค้า และต้องเสียค่าปรับ ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รายงานถึงผลการศึกษาเบื้องต้น ในงานสัมมนา “ภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM): ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยและการปรับตัว” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมว่า มาตรการ CBAM ในระยะแรกแม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปยังอียูมากนัก เนื่องจากปริมาณและมูลค่ายังมีน้อย
ทั้งนี้ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีการส่งออกสินค้าไปเพียง 3 ประเภท ได้แก่ ส่งออกอลูมิเนียม คิดเป็นมูลค่าราว 68.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหล็กและเหล็กกล้า 188.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปุ๋ย 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในอนาคตอันใกล้มีความเป็นไปได้ที่อียูจะพิจารณาขยายขอบเขตประเภทอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย พลาสติก อาหาร เคมีภัณฑ์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น และจะกระทบต่อไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากสินค้าดังกล่าวมีปริมาณการปล่อยคาร์บอน ไดออกไซด์สูง และยังเป็นกลุ่มสินค้าที่ส่งออกจากไทยไปในอียูเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ผลกระทบจากมาตรการ CBAM จากการศึกษาเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวหรือลงทุนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตสินค้าจากต้นทาง สินค้าที่ส่งออกไปภายใต้มาตรการ CBAM เช่น เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และปุ๋ย จะมีราคาสูงขึ้นเฉลี่ยราว 9.32 % มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการจ่ายค่า CBAM Certificate เฉลี่ยอยู่ที่ราว 259.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อต้นสินค้า อีกทั้ง ะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวลดลงราว 16.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการบริโภคลดลงจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นและสินค้าส่วนใหญ่ที่บริโภคในอียูจะเป็นสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ขณะที่สินค้าส่งออกไปอียูเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะถูกนำมาอยู่ภายใต้มาตรการ CBAM ต่อไปนั้น ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ราคาจะเพิ่มขึ้น 14.49% อาหาร 11.83 % พลาสติก 11.11% เคมีภัณฑ์ 7.9 % ผลิตภัณฑ์ยาง 4.88% อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 4.39% รวมเฉลี่ยแพงขึ้น 9.10 %
เมื่อมาวิเคราะห์ผลกระทบด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ CBAM ในกลุ่มสินค้าเหล็กและเหล็กล้า จะมีมูลค่าลดลง 10.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อะลูมิเนียม 5.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปุ๋ย 0.001 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกลุ่มสินค้าที่จะอยู่ภายใต้มาตรการ CBAM ต่อไป ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะมีมูลค่าลดลง 464.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัว 4.46% อาหารลดลง 354.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 17.94 % สิ่งทอและเครื่องแต่งกายลดลง 123.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 13.70 % ผลิตภัณฑ์ยางลดลง 78.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 4.21% พลาสติกลดลง 72.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 13.21 % และเคมีภัณฑ์ลดลง 21.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 3.82 % รวมมูลค่าที่ลดลงของกลุ่ม 6 สินค้า 1,113.99 ล้านอลลาร์สหรัฐฯหดตัว 6.9%
รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า หากผู้ประกอบการไม่มีการปรับตัวลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การส่งออกสินค้าเข้าไปในอียู จะมีต้นทุนเพิ่มจากการจ่ายค่า CBAM Certificate สำหรับสินค้าอะลูมิเนียม 482.65 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เหล็กและเหล็กกล้า 158.08 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และปุ๋ย 137.94 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และกลุ่มสินค้าที่จะอยู่ภายใต้มาตรการ CBAM ต่อไป ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,378.54 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน พลาสติก 338.04 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน อาหาร 313.92 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เคมีภัณฑ์ 174.31 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ผลิตภัณฑ์ยาง 82.53 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 0.15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชิ้น รวมเฉลี่ยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้ง 6 สินค้า 381.25 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัว เพื่อรับกับกติการของการค้าโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะหากไม่ตระหนักถึงจะส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกไปสูญเสียศักยภาพการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้ ในทางกลับกันหากปรับตัวได้ อาจเป็นโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มเติม หากผู้ส่งออกจากประเทศอื่นไม่สามารถปรับตัวรองรับมาตรการได้ทัน
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3897 วันที่ 18 -21 มิถุนายน พ.ศ. 2566