"ไตรฤกษ์ " ลั่น รื้อกฎหมาย IUU คืนความยุติธรรมให้ชาวประมง

22 มิ.ย. 2566 | 08:52 น.
อัพเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2566 | 08:52 น.

เปิดตัว “ไตรฤกษ์ มือสันทัด” ประธานคณะทำงานประมงประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เปิดไทม์ไลน์ ทำงานสานเจตนารมย์รื้อกฎหมาย IUU คืนเรือ คืนชีพ คืนความยุติธรรมให้ชาวประมงทั้งประเทศ คาดประชุมนัดแรก 3 ก.ค. นี้

ย้อนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลรวม 8 พรรค ได้เซ็นเอ็มโอยูร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยวางนโยบายบริหารประเทศร่วมกัน 23 ข้อ หนึ่งในนั้น ในข้อ ที่ 18 คือ การแก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ

ไตรฤกษ์ มือสันทัด

นายไตรฤกษ์ มือสันทัด ประธานคณะทำงานประมงประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และรองประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในขณะนี้ได้ให้ทุกพรรคเสนอกระบวนการ วิธีการ เข้ามา โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ของกฎหมาย ก็ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนที่จะรัฐบาลจะยุบสภา ซึ่งในตอนนี้เหลือการแก้กฎหมายลูก หรืออนุบัญญัติ และการชดเชยเยียวยาให้กับพี่น้องชาวประมง หลังจากนั้นจะส่งให้พรรคร่วมรัฐบาลดำเนินการ ซึ่งต้องรอดูว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ที่จะต้องรับผิดชอบในการรับลูกไปดำเนินการต่อ

“ในคณะทำงาน จะมีพรรคร่วม 8 พรรค ซึ่งผมเป็นโควตาอยู่ในส่วนของพรรคเพื่อไทย และวันนี้ได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงานประมงประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และตั้งไทม์ไลน์ วิธีการทำงาน กระบวนการที่จะต้องแก้ไข คาดในวันที่ 3 กรกฎาคม นี้ จะมีการประชุมที่พรรคเพื่อไทย เพื่อให้พรรคที่เหลือส่งตัวแทนพรรคละ 2 คน เข้าร่วมในคณะทำงานดังกล่าว ซึ่งในที่ประชุมจะมีการแต่งตั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายที่ปรึกษา ฝ่ายกฎหมาย และนักวิชาการ รวม 20 คน จะมาประชุมกันเพื่อขับเคลื่อนในการแก้กฎหมาย IUU (Illegal Unreported and Unregulated fishing) ของอียูที่เขาให้เราดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับความเป็นจริงของประเทศไทย"

\"ไตรฤกษ์ \" ลั่น รื้อกฎหมาย IUU  คืนความยุติธรรมให้ชาวประมง

ทั้งนี้อุตสาหกรรมประมงไทยกำลังจะล่มสลาย เพราะรัฐบาลไม่เข้าใจประมงทะเลไทย มีการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่รุนแรงเกินควร ทำให้ประมงไทยสูญเสียรายได้ไปมากกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปีนับตั้งแต่ปี 2558 ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เจรจาต่อรองการปรับการใช้กฎหมายเหมือนต่างประเทศ ทั้งที่ 200 ประเทศทั่วโลก มีเพียง 10 ประเทศเท่านั้นที่รับกฎหมาย IUU ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้น แต่รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายเต็มฉบับทันที มีบทลงโทษรุนแรง ไม่ประเมินผลได้เสียและผลกระทบมหาศาลต่อชาวประมง 22 จังหวัดของประเทศ

ส่งผลให้ในเวลานี้เรือประมงพาณิชย์ไทยจากเคยมีเกือบ 20,000 ลำ ลดลงเหลือ 9,606 ลำ และปัจจุบันทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันเหลือเรือประมงจับปลาจริงไม่ถึง 5,000 ลำ กระทบธุรกิจประมง ห้องเย็น แรงงานได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ และได้รับความเสียหาย

ที่ผ่านมาประมงไทยทำการประมงแบบอนุรักษ์ โดยในรอบ 12 เดือน เรือต้องหยุดออกทะเลเพราะมีมรสุม 3 เดือน ต้องปิดอ่าวเพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำ 4 เดือน หยุดจับปลาในคืนพระจันทร์เต็มดวง หรือคืนเดือนหงาย 4-5 วัน/เดือน รวมถึงช่วงมรสุม ชาวประมงจะออกทำกินได้จริงเพียงปีละประมาณ 4 เดือน ทั้งที่ไม่ได้เบียดเบียนและใช้ทรัพยากรเกินเหมาะสม

ดังนั้น กฎหมายและบทลงโทษที่ยึดและปรับเรือประมงไทย 40 ล้านบาทต่อลำต่อการกระทำผิด 1 ครั้ง ไม่มีชาติใดปรับแพงเท่านี้ ขณะที่เรือต่างชาติ จับแล้วก็ปล่อยอ้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้นเรือประมงไทยถึงอยู่ยาก ส่งผลให้ไทยที่เคยเป็นประเทศส่งออกอาหารทะเล กำลังจะกลายเป็นประเทศนำเข้าอาหารทะเลแทน

\"ไตรฤกษ์ \" ลั่น รื้อกฎหมาย IUU  คืนความยุติธรรมให้ชาวประมง

“วันนี้ถึงเวลาแล้ว ที่จะพลิกฟื้นอาชีพประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วยการรื้อกฎหมายประมงที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ ซึ่งต้องปรับหลักเกณฑ์และการบังคับใช้อย่างยุติธรรมเหมาะสม จะเป็นภารกิจสำคัญ พร้อม ๆ กับการสร้างนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่นำไปสู่การจัดการทรัพยากรประมงให้ยั่งยืน โดยกฎหมายจะต้องไม่เป็นอุปสรรคหรือทำลายอาชีพชาวประมงไทย” ประธานคณะทำงานประมงประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล กล่าวย้ำ