ส่งออกหด 23 อุตฯลดผลิต จับตา "ถุงมือยาง" ถึงขั้นปิดโรงงาน

07 ก.ค. 2566 | 09:32 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2566 | 10:04 น.

ส่งออกทรุด ออร์เดอร์หาย 23 กลุ่มอุตฯ ลดผลิต เลิกโอที รอลุ้นคำสั่งซื้อส่งมอบไตรมาสสุดท้ายขายไฮซีซั่น ช่วยกู้สถานการณ์ “ถุงมือยาง” ลดกำลังผลิตเหลือ 35-40% ส่อปิดหลายโรง อาหารสัตว์เลี้ยงตกสวรรค์ ติดลบรอบ 3 ปี ทูน่าสะเทือน 2 เด้ง วัตถุดิบขาด-กำลังซื้อหด อัญมณีขอแค่เสมอตัว

ภาคการส่งออก เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย (ปี 2565 มีสัดส่วน 55% ของจีดีพี) ยังต้องเผชิญปัจจัยลบจากภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา และยังทรงตัวในระดับสูงในปีนี้ กระทบกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ซ้ำเติมด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่หลักของไทยทั้งสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป (อียู) ยังมีความไม่แน่นอนสูง กระทบส่งออกไทย 5 เดือนแรกปี 2566 มีมูลค่า 116,344.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 5.1% และยังติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 (ต.ค.65-พ.ค.66)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนกรกฎาคมล่าสุดได้ปรับลดคาดการณ์มูลค่าการส่งออกของไทยปี 2566 จะอยู่ในกรอบ -2.0% ถึง 0.0% จากเดือนมิถุนายน คาดขยายตัวในกรอบ -1.0% ถึง 0.0% ผลจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกของไทยยังเผชิญกับคำสั่งซื้อสินค้า (ออร์เดอร์) ที่ลดลงจากประเทศคู่ค้า

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

  • ลาม 23 อุตสาหกรรมลดผลิต

ทั้งนี้จากผลการสำรวจกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.พบว่า ณ เวลานี้มีอย่างน้อย 23 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องปรับลดกำลังการผลิตตามคำสั่งซื้อที่ลดลง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เหล็ก อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้า ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ในสินค้าฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) เฟอร์นิเจอร์ หลังคาและอุปกรณ์ แก้วและกระจก เครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น

“จากการส่งออกที่ชะลอตัวลงอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ ยังรักษาการจ้างงาน ยังไม่หยุดผลิต และไม่ปิดโรงงาน แต่การผลิตก็ชะลอตัวลงขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรม เช่นก่อนหน้านี้จะผลิตต่อเมื่อมีออร์เดอร์ หรือมีแอล/ซีเข้ามาก็จะผลิต พอผลิตเสร็จก็จะส่งออก แต่พอออร์เดอร์ลดลงเช่นเวลานี้ บางแห่งเคยส่งออกได้ 100% แต่ส่งออกได้ลดลงเหลือแค่ 70% ฉะนั้นก็เหลือสต๊อก 30% บางรายต้องลดกำลังผลิตลง 10-20% เพื่อที่จะได้เก็บสต๊อกน้อยลง ตอนนี้ก็ลดหรือเลิกโอที บางแห่งก็ลดกะการทำงาน ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก และพยายามรักษาสภาพเงินสดเอาไว้”

ส่งออกหด 23 อุตฯลดผลิต จับตา \"ถุงมือยาง\" ถึงขั้นปิดโรงงาน

อย่างไรก็ดีในหลายกลุ่มสินค้ายังลุ้นช่วงปลายปีนี้ จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพื่อส่งมอบในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่ถือเป็นไฮซีซั่นของการส่งออก จากสต๊อกสินค้าของคู่ค้าอาจลดลงหรือหมดลงจำเป็นต้องสั่งนำเข้าไปทดแทน และคาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่แย่ลงไปมากกว่านี้

ส่วนที่ภาคเอกชนที่ทำได้เวลานี้คือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการออกไปแสวงหาตลาดใหม่ ๆ ให้กับสินค้าไทย ซึ่งหากได้รัฐบาล และคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจชุดใหม่ที่ชัดเจนแล้ว ภาคเอกชนคงได้หารือเพื่อร่วมกันหาแนวทางผลักดันการส่งออกของไทยให้กลับมาฟื้นตัวต่อไป

  • ถุงมือยางจ่อปิดหลายราย

นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ยังติดลบกว่า 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักส่วนหนึ่งจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบยางพารารายใหญ่จากไทย เพื่อนำไปแปรรูปเป็นสินค้าหลักคือ ยางล้อรถยนต์เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯและยุโรปที่เวลานี้เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้จีนส่งออกยางล้อรถยนต์ได้ลดลง ส่งผลต่อเนื่องถึงการลดการนำเข้ายางพาราจากไทย และทำให้ ณ เวลานี้ราคายางพาราส่งออกปรับตัวลดลงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์ราคา และการส่งออกต่อไปในเดือนที่เหลือของปีนี้ หากทิศทางแนวโน้มยังไม่ดีขึ้นคาดส่งออกยางพาราไทยปีนี้จะติดลบประมาณ 5%

หลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย

“ที่น่าห่วงคือโรงงานผลิตและส่งออกถุงมือยางที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ทำให้ความต้องการสินค้าและการส่งออกลดลง ยิ่งมาเจอเศรษฐกิจการค้าโลกชะลอตัว ยิ่งทำให้ต้องลดกำลังผลิตลงโดยโรงงานผลิตถุงมือยางในพื้นที่จังหวัดระยองที่มีอยู่ 3-4 โรงเวลานี้ส่วนใหญ่ลดกำลังผลิตเหลือเพียง 35-40% เท่านั้น และมีการลดคนงาน ไม่มีโอทีจากออร์เดอร์มีน้อย ซึ่งหากรัฐบาลใหม่มีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 450 บาทซ้ำเติมอีก หลายโรงอาจต้องปิดตัวลง จากเป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น และมีกำไรไม่มาก”

  • อาหารสัตว์เลี้ยงดิ่งรอบ 3 ปี

ด้าน นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย กล่าวว่า การส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ลดลง 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปัจจัยหลักจากวัตถุดิบปลาทูน่าที่ใช้ในการผลิตลดลงและมีราคาสูงขึ้น ณ เวลานี้อยู่ที่ระดับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 1,600-1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน มีผลจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ชาวประมงจับปลาได้ลดลงจากเดิมประมาณ 20%

ทางสมาคมฯ ยังคาดหวังว่าหากวัตถุดิบมีปริมาณที่ดีขึ้น และราคาจำหน่ายสินค้าที่ปรับขึ้นตามต้นทุนการผลิต จากสต๊อกสินค้าของคู่ค้าที่เริ่มลดลง และจากคำสั่งซื้อที่คาดจะมีมากขึ้นเพื่อส่งมอบในไตรมาสที่ 4 จะทำให้การส่งออกทูน่ากระป๋องกลับมาขยายตัวคาดถึงสิ้นปีนี้ที่ 1-5%

ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย

“ในส่วนของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่เคยขยายตัวระดับตัวเลขสองหลักต่อเนื่องมา 36 เดือนนับตั้งแต่เกิดโควิดที่คนอยู่บ้านมากขึ้นและเลี้ยงสุนัข แมว และอื่น ๆ เป็นเพื่อนมากขึ้น ทำให้คู่ค้ามีการนำเข้าสินค้าเพื่อสต๊อกมากขึ้น แต่หลังจากโควิดคลี่คลายคนเลิก work from home ทำให้การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเริ่มปรับฐานสู่ภาวะตลาดปกติ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลง ส่งผลให้การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไทยเริ่มติดลบมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 โดย 5 เดือนแรกปีนี้ติดลบที่ 24% ซึ่งหมายความถึงการใช้กำลังผลิตก็จะลดลงตามสัดส่วนการส่งออกที่ติดลบคือกว่า 20% ปีนี้คาดการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงจะติดลบที่ 15-20% และจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ช่วงไตรมาสแรกปีหน้า”

  • อัญมณีลุ้น Q 4 ฟื้นตัว

ขณะที่ นายชมพล พรจินดารักษ์ อุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ กล่าวว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่ถูกมองเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยยังชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่เวลานี้วัตถุดิบในการผลิตทั้งเพชร ทอง พลอยก้อนที่ต้องนำเข้า ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่เวลานี้อ่อนค่าที่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลผู้ประกอบการต้องนำเข้าวัตถุดิบในราคาที่สูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุน โดยผู้ประกอบการแต่ละรายยังผลิตตามออร์เดอร์ และคาดหวังคำสั่งซื้อเพื่อส่งมอบไตรมาสสุดท้ายปีนี้จะกลับมาในช่วงไฮซีซั่น คาดทั้งปีนี้การส่งออกอัญมณีฯจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วถึงบวกเล็กน้อย