สงครามรัสเซีย-ยูเครน "500 วันแห่งความสูญเสีย" ที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด 

08 ก.ค. 2566 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2566 | 23:46 น.

สงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 จนถึงวานนี้ (8 ก.ค.2566) ครบ 500 วันแล้ว เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สงครามครั้งนี้ยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังไม่มีสัญญาณว่าจะจบลงได้อย่างไร

 

รัสเซีย อ้างเหตุผลในการรุกราน ยูเครน ซึ่งรัสเซียเลี่ยงไปใช้คำว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในการนำกองทัพรุกเข้าสู่ดินแดนยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ว่าเพื่อปกป้องรัสเซียจากนาโต เนื่องจากยูเครนประกาศชัดเจนว่าต้องการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของนาโต หรือในชื่อเต็มว่าองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization - NATO) ซึ่งขยายใกล้พรมแดนรัสเซียเข้ามาเรื่อยๆ และรัสเซียมองว่าเป็นการข่มขู่คุกคามโดยตรง

นอกจากนี้ ยังอ้างต้องการขจัดลัทธินาซีในยูเครน และปลดปล่อยบางภูมิภาคของยูเครนให้เป็นอิสระโดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีประชาชนเชื้อสายรัสเซียจำนวนมาก

สรุปความสูญเสีย-ล้มตายของกองกำลังทั้งสองฝ่าย

ความสูญเสียของกองกำลังและจำนวนทหารที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ซึ่งดำเนินมา 500 วันแล้ว (นับถึงวันเสาร์ที่ 8 ก.ค.66) เป็นการประเมินจากหลายแหล่งด้วยกัน และยากที่จะพิสูจน์ว่าตัวเลขที่เปิดเผยจากทางการของทั้งสองฝ่ายจะเป็นตัวเลขจริงหรือไม่ เพราะทั้งรัสเซียและยูเครน มีแนวโน้มที่จะไม่เปิดเผยความสูญเสียที่แท้จริงเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การรบ

อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงกลาโหมยูเครน ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 มีตัวเลขประมาณการณ์ว่า ฝ่ายรัสเซียได้สูญเสียกำลังพลในสงครามครั้งนี้ไปแล้ว 231,700 นาย

กลาโหมยูเครนปล่อยข่าวว่า ฝ่ายรัสเซียได้สูญเสียกำลังพลในสงครามครั้งนี้ไปแล้ว 231,700 นาย

ขณะที่ตัวเลขของกระทรวงกลาโหมอังกฤษ มีการประเมินว่า ในปีแรกของสงคราม ฝ่ายกองทัพรัสเซียและกองกำลังอิสระในสังกัด อาทิ กองกำลังนักรบรับจ้างแวกเนอร์ มีผู้เสียชีวิตมากถึง 200,000 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขประมาณการณ์ของกลาโหมยูเครน

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินโดยสำนักงานข่าวกรองกลาโหมสหรัฐเมื่อเร็วๆนี้ ที่มีการเปิดเผยออกมาอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ ชี้ว่า มีทหารรัสเซียเสียชีวิตไปราว ๆ 35,500-43,000 นาย ส่วนจำนวนที่บาดเจ็บมีราว ๆ 154,000-180,000 นาย นอกจากนี้ ยังประมาณการณ์ว่า ฝ่ายทหารยูเครน คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตราว 17,500 นาย และได้รับบาดเจ็บ 113,500 นาย

ทั้งนี้ ตัวเลขจากหน่วยงานภายนอกส่วนใหญ่จะสูงกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่เผยแพร่โดยทางการยูเครนและรัสเซีย ทำให้เราไม่อาจทราบได้อย่างแน่ชัดว่า ความสูญเสียทางทหารของทั้งสองฝ่ายในปัจจุบัน แท้จริงแล้วมากน้อยเพียงใด

แล้วความสูญเสียฝ่ายพลเรือนล่ะ

ตัวเลขล่าสุดที่รวบรวมจากสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR พบว่า มีพลเรือนในยูเครนที่เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้ 9,083 คน และบาดเจ็บ 15,779 คน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มาก

OHCHR ระบุว่า ตัวเลขความสูญเสียในพื้นที่ที่ควบคุมโดยรัฐบาลยูเครนที่สามารถบันทึกไว้ได้ คือมีพลเรือนที่เสียชีวิต 7,072 ราย และบาดเจ็บ 13,001 ราย ส่วนในดินแดนที่ถูกยึดครองโดยรัสเซีย OHCHR ได้บันทึกตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้อย่างน้อย 2,011 ราย และบาดเจ็บ 2,778 ราย

สงครามทำให้คนไร้บ้าน ชาวยูเครนนับล้านกลายเป็นผู้อพยพ

ด้านสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รายงานว่า สงครามครั้งนี้นำไปสู่ “วิกฤตผู้ลี้ภัย” ที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

โดยรายงานของ UNHCR ระบุว่า มีประชาชนราว 6.3 ล้านคน! ถูกบีบให้หนีออกจากยูเครนนับตั้งแต่การรุกรานของรัสเซียเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนก.พ.2565 โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ หรือราว ๆ 5,967,100 คนได้อพยพไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ขณะที่ประมาณ 6 ล้านคนกลายเป็น “ผู้พลัดถิ่น” อยู่ในยูเครนเอง

ทั้งนี้ ผู้อพยพลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากผู้ชายชาวยูเครนอายุระหว่าง 18-60 ปีได้รับคำสั่งให้อยู่ภายในประเทศและเป็นกำลังสำรองเพื่อต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย

ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่ชาวยูเครนอพยพลี้ภัยสงครามไปมากที่สุด ได้แก่

  • ประเทศรัสเซีย มีผู้อพยพชาวยูเครนราว 1,275,315 คน
  • เยอรมนี มี 1,076,680 คน
  • โปแลนด์ 999,690 คนฃ
  • สาธารณรัฐเช็ก 350,455 คน
  • และสหราชอาณาจักร 206,700 คน

ดินแดนยูเครนที่ถูกกองทัพรัสเซียยึดครอง

ในช่วงแรก ๆของสงคราม กองทหารรัสเซียเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อยึดดินแดนจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน รวมทั้งรอบ ๆ เมืองหลวงเคียฟ และเมืองคาร์คิฟ ที่เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ กล่าวได้ว่า ในช่วง 2-3 เดือนแรกของสงคราม รัสเซียสามารถยึดพื้นที่ของยูเครนไว้ได้มากกว่า 20% หลังจากที่รัสเซียสามารถยึดเมืองและท่าเรือที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เอาไว้ได้

สงครามดำเนินต่อเนื่องมา 500 วันแล้ว(ณ 8 ก.ค.66) โดยยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะสิ้นสุดลงได้เมื่อไหร่และอย่างไร

นอกจากนี้ รัสเซียยังเข้าควบคุมพื้นที่รอบเมืองสำคัญ เช่น เคอร์ซอน มาริอูโปล และหมู่บ้านหลายแห่งทางภาคตะวันออก

อย่างไรก็ตาม ต่อมาความพยายามของรัสเซียถูกสกัดโดยการต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายยูเครน ขณะที่ปัญหาด้านโลจิสติกส์ของกองทัพทำให้ทหารรัสเซียในยูเครนประสบความยากลำบากมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามมีกำลังแข็งแรงมากขึ้นจากอาวุธจากชาติตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาสนับสนุนยูเครน

การตอบโต้ใหญ่ครั้งแรกของยูเครนส่งผลให้สามารถยึดดินแดนรอบ ๆ เมืองคาร์คิฟและเคอร์ซอนกลับคืนมาได้ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนปีนี้ (2566) ยูเครนได้เปิดฉากการตอบโต้อีกครั้งเพื่อยึดคืนพื้นที่ทางภาคตะวันออกและทางใต้ แต่ความคืบหน้าจนถึงขณะนี้ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า

กล่าวโดยสรุปคือการโต้กลับของยูเครน ที่ผนวกกับกองทัพรัสเซียเองไม่สามารถรุกคืบได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงเหมือนอย่างในช่วงแรก ๆ ทำให้ขณะนี้ พื้นที่ของยูเครนที่รัสเซียยึดไว้ได้ ลดเหลือน้อยกว่า 20% และจากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญบางแหล่ง พบว่า ตัวเลขที่แท้จริงอาจไม่ถึง 17% ด้วยซ้ำ

เม็ดเงินที่ต้องใช้ในการกอบกู้ฟื้นฟูประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่า ในการฟื้นฟูยูเครน ต้องใช้เงินมากกว่า 4.11 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากตลอด 500 วันภายใต้ไฟสงคราม หลายเมือง หลายหมู่บ้าน ถูกระดมโจมตีอย่างต่อเนื่องทั้งจากอาวุธปืน รถถัง ระเบิด และขีปนาวุธ ทำให้ทั่วทั้งยูเครนขณะนี้เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องที่ถล่มทลาย เสียหาย และมีแต่ร่องรอยความสูญเสียเหมือนแผลเป็นทั่วไปหมด

ขีปนาวุธและการทิ้งระเบิดโดยฝ่ายรัสเซียได้ทำลายอาคารบ้านเรือนและสถาปัตยกรรมของยูเครนหลายแสนหลัง ตั้งแต่บ้าน โรงพยาบาล ไปจนถึงโรงไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ

คาดว่าความเสียหายในภาคธุรกิจต่าง ๆ ของยูเครน จะอยู่ที่ระดับ 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นอย่างน้อย (ราว 3.97 แสนล้านบาท)

ข้อมูลของ Kyiv School of Economics ในกรุงเคียฟ ประเมินว่า เฉพาะค่าใช้จ่ายในการซ่อมหรือสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหาย เชื่อว่าจะสูงถึง 1.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 5 ล้านล้านบาท

รายงานของธนาคารโลกเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ยูเครนจะต้องใช้เงินรวม 4.11 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 14.4 ล้านล้านบาทภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์สร้างเมืองขึ้นใหม่ คิดเป็น 2 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วงก่อนสงคราม

ส่วนความเสียหายในภาคเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของยูเครน คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 8,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3 แสนล้านบาท ขณะที่ความเสียหายในภาคธุรกิจต่าง ๆ ของยูเครน ประเมินว่า อยู่ที่ระดับ 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นอย่างน้อย หรือกว่า 3.97 แสนล้านบาท ซึ่งหากสงครามยืดเยื้อออกไปอีก ตัวเลขดังกล่าวก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ

ข้อมูลอ้างอิง