ประวัติความเป็นมาของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แมลงแห่งนี้ไม่ปรากฎหลักฐานในการเริ่มต้นเก็บรวบรวมตัวอย่างแมลงที่เด่นชัด แต่ในปี พ.ศ.2469 Mr.W.R.S. Ladell ชาวอังกฤษที่ได้เข้ามารับราชการในกระทรวงเกษตราธิการได้เริ่มต้นเก็บรวบรวมตัวอย่างแมลงทั่วไปรวมถึงแมลงชนิดที่เป็นศัตรูพืช และตัวอย่างแมลงทั้งหมดที่รวบรวมได้ในครั้งนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แมลงของประเทศไทย
อย่างไรก็ตามการเก็บและรักษาตัวอย่างแมลงในสมัยนั้นยังไม่ได้ดำเนินการจัดเก็บตามแบบระบบสากลเหมือนในปัจจุบัน ขณะนั้นมีเพียงการใช้หีบไม้ที่ปูด้วยไม้คอร์กขีดเส้นแบ่งช่องปักแมลงเป็นแถวๆ มีป้ายชื่อกำกับ และเก็บแมลงวางไว้ซ้อนกันบนโต๊ะเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 ม.ร.ว. จักรทอง ทองใหญ่ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกฯ จึงได้ปรับปรุงการเก็บตัวอย่างแมลงมาเป็นแบบ “Tray System” โดยแบ่งแยกแมลงแต่ละอันดับใส่กล่องจัดเก็บเรียงเข้าลิ้นชักเป็นกล่องๆ ลิ้นชักละ 4 แถว แมลงที่มีชื่อวิทยาศาสตร์จะจัดเก็บเข้าตู้เรียงตามอักษรของชื่ออันดับ (order) วงศ์ (family) สกุล (genus) และชนิด (species)
นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนมาใช้เข็มปักแมลงแบบปลอดสนิม พร้อมทั้งได้มีการบันทึกข้อมูลด้านชีววิทยาและวิธีการเลี้ยงลงในสมุด “Breeding Lot” (BL) ในกรณีที่ไม่สามารถจำแนกชื่อของตัวอย่างแมลงได้จะส่งไปที่ Imperial Institute of Entomology, British Museum (Natural History) ประเทศอังกฤษ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการดำเนินงานตามระบบสากลของพิพิธภัณฑ์แมลง กรมวิชาการเกษตรอย่างแท้จริงนับแต่นั้นมา
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แมลงถือเป็นหัวใจของงานวิจัยด้านกีฏวิทยาของประเทศ เพราะข้อมูลและรายละเอียดต่า งๆ เช่น ชื่อวิทยาศาสตร์ พืชอาหาร เขตการแพร่กระจาย ฯลฯ ของแมลงแต่ละชนิดมีประโยชน์อย่างยิ่งต่องานวิจัยด้านกีฏวิทยาแขนงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการจัดทำรายชื่อชนิดแมลงศัตรูพืช การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชรองรับปัญหาด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร ตลอดจนใช้ในด้านการกักกันพืช ซึ่งเป็นไปตามมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS Agreement) ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ที่ประเทศสมาชิกรวมทั้งไทยจะต้องใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชเพื่อปกป้องสุขภาพมนุษย์ สัตว์ พืชและสิ่งแวดล้อม
นอกจากจะเป็นแหล่งข้อมูลแมลงที่สำคัญของประเทศแล้วพิพิธภัณฑ์แมลงยังเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ความรู้ด้านกีฏวิทยาผ่านการจัดการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช นักวิชาการเกษตร สถาบันอุดมศึกษา บริษัทเอกชนรวมถึงการจัดทำเอกสารด้านอนุกรมวิธานเพื่อช่วยสนับสนุนงานวิจัยด้านอารักขาพืชให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์แมลงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ ส่วนของวิชาการและส่วนของนิทรรศการ โดยในส่วนวิชาการจะดำเนินการเก็บและรักษาตัวอย่างแมลงซึ่งปัจจุบันมีแมลงอยู่ทั้งสิ้น 600,000 ตัวอย่างโดยประมาณ จำแนกชนิดแล้วกว่า 10,000 ชนิด และมีแมลงต้นแบบซึ่งมีที่เดียวในโลกมากกว่า 100 ตัวอย่าง ส่วนพิพิธภัณฑ์แมลงนิทรรศการนั้น เป็นส่วนที่เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปมาศึกษาหาความรู้ และเรียนรู้ถึงความหลากหลายของแมลงซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายมากที่สุดในโลก
สำหรับผู้ที่สนใจในการเรียนรู้ และสนใจเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แมลง สามารถติดต่อได้ที่กลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร Page Facebook : Insect Museum Thailand (พิพิธภัณฑ์แมลง ประเทศไทย) โทร 02-579-5583