ภัยเงียบ "เอลนีโญ" สนทช.คาดน้ำเขื่อนลดกว่า 1 หมื่นล้านลบ.ม. จ่องดนาปรัง

09 ส.ค. 2566 | 10:43 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2566 | 10:57 น.

สนทช.ประเมิน "เอลนีโญ" ทำให้ฝนตกน้อยกว่าปกติ น้ำต้นทุนที่จะใช้ฤดูแล้งปี 2566/67 อาจจะน้อยกว่าปีที่แล้วเกือบ 10,000 ล้านลบ.ม. เดินหน้านำเทคโนโลยีฝน One Map วางแผนจัดการน้ำ แม่นยำสูง-แจ้งเตือนอย่างมีประสิทธิภาพ หวังพายุเข้าไทย 1-2 ลูก ตามกรมอุตุฯคาดการณ์มาช่วย

นายบุญสม ชลพิทักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ปริมาณฝนตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันตกสะสมน้อยกว่าค่าปกติถึง 19% โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นไปปรากฎการณ์เอลนีโญจะเริ่มเด่นชัดมากขึ้น ไปจนถึงเดือนเมษายน 2567 ทำให้ต้องมีการทบทวนเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำและวางแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์  

โดยในเดือนสิงหาคม 2566 ปริมาณฝนยังคงตกสะสมต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อย จนถึงเดือนกันยายน 2566 ปริมาณถึงจะใกล้เคียงค่าปกติ  

และในเดือนตุลาคม 2566 ฝนจะตกมากกว่าค่าปกติ แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2566  ปริมาณฝนจะตกน้อยกว่าค่าปกติอีกครั้ง โดยจะน้อยลงถึง 34% 

นายบุญสม ชลพิทักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

ทั้งนี้ คาดว่าหลังสิ้นสุดฤดูฝน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จะมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 35,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้อยกว่าช่วงเดียวกันปี 2565 ประมาณ 9,800 ล้าน ลบ.ม.

แต่ถ้าหากมีพายุพาดผ่านประเทศไทย 1-2 ลูก ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ จะทำให้มีน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนมากขึ้น ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จะมากกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้การวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

 รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า แม้จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติก็ตาม แต่ยังหวังว่าในช่วงปลายฤดูฝนตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2566 ฝนจะตกเพิ่มขึ้นและตกหนักในหลายพื้นที่ อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่ได้ โดย กอนช. ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยพบว่า ในเดือนสิงหาคม 2566 มีพื้นที่เสี่ยงภัยจำนวน 1,238 ตำบล ในเดือนกันยายน 2566 จำนวน 1,986 ตำบล และในเดือนตุลาคม 2566 มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยถึง 2,175 ตำบล 

ภัยเงียบ \"เอลนีโญ\" สนทช.คาดน้ำเขื่อนลดกว่า 1 หมื่นล้านลบ.ม. จ่องดนาปรัง

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำทั้ง 42 หน่วยงานจะต้องปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ของ กอนช. อย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตามในระยะยาวตั้งแต่ปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 มีแนวโน้มสูงที่ปริมาณน้ำต้นทุนจะอยู่ในสถานการณ์น้ำน้อย สทนช. จึงได้แจ้งให้ทุกหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกันภายใต้ กอนช. กำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี พร้อมออกมาตรการรองรับหากต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน

ภัยเงียบ \"เอลนีโญ\" สนทช.คาดน้ำเขื่อนลดกว่า 1 หมื่นล้านลบ.ม. จ่องดนาปรัง

เช่น งดการทำนาปรัง รณรงค์ปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยออกมาตรการชดเชยต่างๆ ให้เกษตกร เป็นต้น รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด พร้อมปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) โดยให้เก็บกักน้ำในระดับเกณฑ์เก็บกักน้ำดับสูงสุด (Upper Rule Curve) ของอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่ง พรัอมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนให้น้ำอย่างประหยัดรู้คุณค่า 

และขอความร่วมมือให้เก็บกักน้ำไว้ในแหล่งเก็บกักน้ำของตัวเองให้ได้มากที่สุดด้วย เพื่อจะได้มีน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้ในฤดแล้งปี 2566/67 อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม กอนช. ให้ความมั่นใจได้ว่า จะมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการผลักดันน้ำเค็มตลอดทั้งปี” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว

ภัยเงียบ \"เอลนีโญ\" สนทช.คาดน้ำเขื่อนลดกว่า 1 หมื่นล้านลบ.ม. จ่องดนาปรัง

นายบุญสม  กล่าวด้วยว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ใช้เทคโนโลยีฝน One Map มาใช้ในการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ พยากรณ์น้ำฝน น้ำท่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ พื้นที่เสี่ยงภัย ในระยะตั้งแต่ 3 วัน 7 วัน และ 6 เดือน ซึ่งมีความแม่นยำค่อนข้างสูงประมาณ 80% ทำให้สามารถวางแผนรับมือสถานการณ์และเตือนภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนวางแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ