นายเสกสรรค์ วรรณกรี ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวในเวทีเสวนาในหัวข้อ “การส่งออกผลไม้ไทย “แสนล้าน” สู่ตลาดโลก : เงื่อนไข กฎ ระเบียบ และแนวโน้มการส่งออก” โดยระบุว่า จากนโยบายที่ชัดเจนของกรมวิชาการเกษตรเกี่ยวกับการส่งออกผักผลไม้แสนล้านสู่ตลาดโลก เน้นคุณภาพนำ
ในส่วนของกรมฯที่ดูแลกฎระเบียบการส่งออก เรื่องเอกสารข้อมูลต่างๆเพื่อยื่นขอส่งออก รวมไปถึงเอกสารติดต่อระหว่างประเทศ ในปัจจุบันได้พัฒนาระบบ e-Phyto เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรสามารถยื่นขอส่งออกที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาที่ด่าน
นอกจากนั้นแล้วกรมฯกำลังจะเพิ่มจำนวนบุคลากรเจ้าพนักงาน ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่นายตรวจ 30 คน ที่คอยตรวจสินค้า 600 ตู้ แต่ในปีนี้ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่ 60 คน ในการตรวจตู้สินค้า 800 ตู้ ซึ่งถือเป็นการแก้ไขระยะสั้น แต่ในระยะยาวตอนนี้ได้ทำการแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อให้พนักงานข้าราชการเป็นเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.กักพืชได้
"เดิมเจ้าหน้าที่ทำงานตามพ.ร.บ. กักพืช พ.ศ.2507 ซึ่งพนักงานจะเป็นเพียงข้าราชการแต่นโยบายของท่านอธิบดีฯพยายามแก้ไขกฎระเบียบให้พนักงานข้าราชการเป็นเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.กักพืชได้ ดังนั้นในอนาคตจะมี 1,200 หรือ 2000 ตู้ เจ้าหน้าที่ก็ได้เตรียมการแล้ว โดยคาดว่าขั้นตอนกระบวนการต่างๆจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีหรือภายในปีส่งออก 2567 "
ขณะเดียวกันกรมฯได้เตรียมพัฒนาแอปพลิเคชัน ที่มีรูปแบบคล้ายแกร็บ หรือ อูเบอร์ ซึ่งนายตรวจจะทำหน้าที่คล้ายแกร็บหรืออูเบอร์ ที่จะไปหาผู้ประกอบการ ยกตัวอย่าง ล้ง หากปิดตู้เสร็จสามารถเรียกนายตรวจได้เลย ซึ่งแอปฯจะทำหน้าที่เรียลไทม์ เมื่อผู้ประกอบเรียกปุ๊ปก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจเลย
นายเสกสรรค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในตอนนี้คือตลาดประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่มีความต้องการผักและผลไม้ที่มีคุณภาพ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีเงื่อนไขกฎระเบียบน้อยกว่าประเทศคู่ค้าอื่นๆ เพราะเป็นประเทศทะเลทราย ไม่กังวลเรื่องแมลงศัตรูพืช ขอแค่สินค้ามีคุณภาพ
"เป้าหมายของซาอุดีอาระเบียต้องการที่จะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเหมือนเช่นกาตาร์ ดังนั้นเราจะเห็นว่ามีการดึงโรนัลโด้ มีลีกในประเทศ ปลูกต้นไม้นับล้านต้น ซึ่งตรงนี้เองจะดึงดูดคน บุคลากร และจะมีการบริโภคสินค้าต่างๆมากขึ้น"