“เอลนีโญ”ชี้เป็นชี้ตาย ตลาดปุ๋ย-เคมีเกษตรแสนล้าน รุ่งหรือร่วง

26 ส.ค. 2566 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ส.ค. 2566 | 10:30 น.

ปุ๋ยเคมี และเคมีเกษตร เป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกรไทย ข้อมูลกรมวิชาการเกษตรในปี 2565 ไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีรวม 4.10 ล้านตัน มูลค่า 1.03 แสนล้านบาท

โดยปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีในปี 2565 ลดลงจากปีก่อนที่มีการนำเข้า 5.52 ล้านตัน แต่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น (จากปี 2565 มูลค่านำเข้า 7.01 หมื่นล้านบาท) 

ผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และจากการจำกัดการส่งออกปุ๋ยของผู้ผลิตรายใหญ่เช่น จีน ส่งผลซัพพลายปุ๋ยเคมีในตลาดโลกลดลง และมีราคาที่สูงขึ้น ขณะที่การนำเข้ายากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ปี 2565 ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์มีการนำเข้า 3.21 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากก่อน ที่มีการนำเข้า 2.71 หมื่นล้านบาท

ในงานนิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทยและการก้าวไปในทศวรรษที่ 6” ของกรมวิชาการเกษตร (19-20 ส.ค.2566)หนึ่งในไฮไลท์สำคัญได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางการนำเข้าปุ๋ย เคมีเกษตร และปัจจัยผลิตทางการเกษตรไทย” ผู้ร่วมเสวนาได้สะท้อนทิศทางแนวโน้มการนำเข้าปุ๋ย และเคมีเกษตรของไทยไว้อย่างน่าสนใจ

นางสาววรัญญา บุญวิวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย ชี้ว่า การนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง จากเกษตรกรไทยมีแนวโน้มขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก อาทิ ข้าว อ้อย ยางพาราและปาล์มนํ้ามันจากราคาที่ยังจูงใจ และยังมีความจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ทั้งนี้การนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศในปีนี้จะมากน้อยเพียงใดมีตัวแปรสำคัญคือ สภาพอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกแค่ไหน

“เอลนีโญ”ชี้เป็นชี้ตาย ตลาดปุ๋ย-เคมีเกษตรแสนล้าน รุ่งหรือร่วง

อย่างไรก็ตามความต้องการใช้ปุ๋ยอาจปรับลดลงบ้างในปี 2567-2568 จากไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ ที่ส่งผลทำให้ฝนตกน้อยกว่าปกติ ด้านราคาปุ๋ยเคมีในประเทศในปี 2566-2568 คาดจะปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากต้นทุนปุ๋ยเคมีในตลาดโลกยังทรงตัวสูงตามราคานํ้ามันและก๊าซธรรมชาติที่ผันผวน รวมถึงจากการที่ประเทศจีนตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon neutral) ภายในปี พ.ศ.2603 ทำให้โรงงานผลิตปุ๋ยส่วนใหญ่ของจีนลดกำลังการผลิต เพื่อลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งจะส่งผลต่อซัพพลายและราคาปุ๋ยในตลาดโลก รวมถึงในไทย

ด้าน นายจารึก  ศรีพุทธชาติ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า ตลาดเคมีเกษตรหรือสารกำจัดศัตรูพืช (Pesticide) ของไทยมีมูลค่าตลาดต่อปีประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น สารเคมีกำจัดวัชพืช (Herbicide) สัดส่วน 53% ยาฆ่าแมลง/สารกำจัดแมลง (Insecticide) ประมาณ 23% และสารกำจัดเชื้อรา (Fungicide) ประมาณ 24% โดยไทยใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชเป็นหลักจากแรงงานมีน้อยลง

สำหรับแนวโน้มมูลค่าการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชของไทย ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป มีแนวโน้มจะตกตํ่ากว่าปี 2566 จากสินค้าเคมีเกษตรมีแนวโน้มราคาถูกลง และไทยจะเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ(ภัยแล้ง) ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง และพืชผลการเกษตรอื่น ๆ ได้ตามปกติ จะส่งผลต่อกำลังซื้อของเกษตรกรและการใช้เคมีเกษตรลดลงตามไปด้วย

 นางนงนุช ยกย่องสกุล นายกสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย(TAITA) กล่าวว่า จากแผนการปฏิรูปสีเขียวผ่านนโยบาย EU Green Deal ของสหภาพยุโรป มีจุดมุ่งหมายเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค(Farm to Fork Strategy) โดยมีการพิจารณาลดการใช้สารเคมีเกษตร ปุ๋ยเคมีและยาต้านจุลชีพอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากไทยต้องการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังยุโรป และยังมีการใช้สารเคมีอย่างไม่ระมัดระวัง ไทยอาจโดนถอดจากประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรไปยังยุโรปได้ ดังนั้นภาครัฐบาลต้องร่วมมือกับเอกชนเพื่อดูแลและรับมือ

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และในฐานะนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลการนำเข้า การผลิต และการจำหน่ายปุ๋ย มีมาตรการต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเข้าปุ๋ยเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ มีสารวัตรเกษตรในทุกจังหวัด และสารวัตรเกษตรไซเบอร์ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดีเอสไอ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการตรวจจับปุ๋ยปลอม หรือเคมีเกษตรปลอมให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำเกษตรกรในการซื้อสินค้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรจากร้านที่ได้รับอนุญาตจำหน่าย หรือร้าน Q-Shop ที่เป็นสัญลักษณ์ของความปลอดภัย

ขณะเดียวกันล่าสุดได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำพจนานุกรม เพื่อปรับปรุงศัพท์ปุ๋ยและธาตุอาหารพืชให้เป็นปัจจุบัน เป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้เข้าใจได้ง่ายว่า ข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่บนฉลากปุ๋ยประกอบด้วยอะไรบ้าง และสามารถที่จะรู้ว่าปุ๋ยชนิดใดเหมาะสมกับสภาพดิน หรือตามค่าวิเคราะห์ดิน ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิดเพื่อช่วยเพิ่มผลิต

ขณะที่ นายภัสชญภณ  หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีความจำเป็นในการนำเข้าปุ๋ยเคมีอย่างต่อเตื่อง เนื่องจากผลิตปุ๋ยเองไม่ได้ จาก 3 สาเหตุหลักคือ 1.ทรัพยากรเราไม่มี 2.นวัตกรรมเราไม่มี และ 3.ความพร้อมในการลงทุนอาจจะไม่พร้อมเท่าที่ควร ปัจจุบันเมื่อไทยเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ จะเป็นตัวคุมเกมของภาคการเกษตรทั้งหมด ตั้งแต่ปริมาณนํ้า ผลผลิตต่อไร่ รวมไปถึงการใช้ปัจจัยการผลิต ซึ่งกรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะให้คำปรึกษาในทุกด้านเพื่อให้ภาคการเกษตรของไทยก้าวผ่านปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไปได้

อย่างไรก็ดีมีสิ่งที่ไทยสามารถพัฒนาขึ้นได้เองในประเทศ คือชีวภัณฑ์ ซึ่ง ณ ปัจจุบันทางกรมมีผลงานการวิจัยเทคโนโลยีทางด้านนวัตกรรมชีวภาพที่พร้อมถ่ายทอดให้ภาคเอกชนนำไปต่อยอดโดยจ่ายเป็นค่าลิขสิทธิ์ให้กับนักวิจัย เวลานี้มีชีวภัณฑ์ 17 รายการที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตจำหน่าย เพื่อใช้ทางการเกษตรร่วมกับสารเคมี หรือใช้ทดแทนสารเคมีในบางศัตรูพืชได้ ซึ่งอยากจะเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์