ในงานนิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรและก้าวไปในทรรศวรรษที่ 6” จัดโดยกรมวิชาการเกษตร ในช่วงเสวนา “ทิศทางการนำเข้าปุ๋ย เคมีเกษตร และปัจจัยการผลิตทางการเกษตรไทย”
นายจารึก ศรีพุทธชาติ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวในเวทีเสวนา ใจความสำคัญ ระบุว่า สมาชิกของสมาคมฯสัดส่วน 80% เน้นเรื่อง Pesticide (สารกำจัดศัตรูพืช /เคมีเกษตร) แต่เรื่องปุ๋ยก็มีบ้างโดยทำงานร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวกับทางด้านปุ๋ย โดยในเรื่องราคา และเรื่องอื่น ๆ ก็มีการคุยกันตลอดเวลา
ในส่วนของ Pesticide (สารกำจัดศัตรูพืช / เคมีเกษตร) ของไทยในปี 2565 มีมูลค่าตลาด 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็น สารเคมีกำจัดวัชพืช (Herbicide) สัดส่วน 53% ยาฆ่าแมลง /สารกำจัดแมลง (Insecticide) สัดส่วนประมาณ 22% และสารกำจัดเชื้อรา (Fungicide) ประมาณ 24% โดยไทยใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช (Herbicide) เป็นหลักจากแรงงานมีน้อย และต้องใช้ทุกครั้งเวลาปลูกพืช โดยหลักการใช้สาร จะใช้เมื่อปลูกพืชผักแล้วมีการระบาดของโรค
สำหรับแนวโน้มมูลค่าการนำเข้า สารกำจัดศัตรูพืชของไทยจะเห็นว่าขึ้น ๆ ลง ๆ แต่เฉลี่ยแล้วตลาดจะลดลงเรื่อย ๆ ประมาณการณ์แนวโน้มปี 2023-2027 (2566-2570) จากที่เกิดภาวะเอลนีโญ การตลาดหรือการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ จะลดลง โดยมีปัญหาทั้งในการนำเข้า-ส่งออก ปัญหาในการค้าขาย และมีปัจจัยจำนวนมากที่ทำให้ธุรกิจสะดุด หรือเดินไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ปัจจัยสำคัญ เช่น นโยบายของประเทศว่าเรามีนโยบายอย่างไร ตอนนี้จะเห็นว่าเทรนด์ออร์แกนิค(เกษตรอินทรีย์) มาแรง เรื่อง Pesticide และ Bio-Pesticide ต่าง ๆ ที่มีการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการเกษตรให้มีความทันสมัยตอบโจทย์ความยั่งยืน ตรงนี้เป็นหลักสำคัญที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบธุรกิจของผู้ประกอบการ
ต่อมาคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ในปัจจุบัน ทุกประเทศทั้งในยุโรป อเมริกา แอฟริกา รวมถึงไทยมีปัญหาจากเอลนีโญ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการระบาดต่าง ๆ จะเห็นว่าราคานำเข้าเคมีเกษตรต่าง ๆ ผันผวน จากไทยเป็นประเทศที่ไม่สามารถสังเคราะห์สารเคมีเกษตรได้ แต่นำเข้า 100% ซึ่งเป็นสารที่ปรุงแต่งแล้วจากต่างประเทศ และเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ
ตัวเลขจากกรมการค้าภายใน Pesticide 70% ไทยนำเข้าจากจีน ในจำนวน 70% นี้นำเข้าโดยผู้ประกอบการในประเทศ และ 30% จากบริษัทข้ามชาติซึ่งเป็น R&D Base ขณะที่ภาพรวมสัดส่วนของสินค้า นำเข้าจากจีน 90% ที่เหลือ10% จากอินเดีย และอื่น ๆ
นอกจากนี้ปัญหาของผู้ประกอบการยังเป็นผลกระทบจากราคาสินค้า ผลผลิตต่าง ๆ ของเกษตรกร สต๊อกสินค้าของประเทศต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น อินเดีย ณ ปัจจุบันเก็บสต๊อกสินค้า ไม่ส่งออก ปัญหาต่อมาคือ องค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs)ที่จะคอยบอกตลอดเวลาว่าสารตัวนี้ดี-ไม่ดีอย่างไร ควรแบน-ไม่ควรแบน ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมามีผลกระทบต่อการนำเข้าเคมีเกษตรของผู้ประกอบการ และอีกปัญหาที่คาดการณ์ไม่ได้คือ Covid ที่ไม่รู้จะจบเมื่อไร
“โดยภาพรวมธุรกิจของเรา มองว่าปีหน้าจะแย่กว่าปีนี้ โดยปริมาณน้ำในเขื่อนของประเทศไทยเวลานี้มีไม่ถึง 50% ของเขื่อนในภาพรวมของประเทศ ในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีแหล่งน้ำชลประทานยังพออยู่รอดได้ แต่ข้าวนาปีจะต้องระวัง เพราะฉะนั้นเราลำบาก ตอนนี้สารเคมีที่เรานำเข้าส่วนใหญ่คือ กลูโฟซิเนตที่เป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่นำมาใช้ทดแทนพาราควอตที่ถูกแบนไปแล้ว และใช้ทดแทนบางส่วนของไกลโฟเซตที่ถูกจำกัดการใช้”
ปัจจุบันสารเคมีต่าง ๆ ราคาโดยทั่วไปถูกลงมาตั้งแต่ต้นปี และปรับดีขึ้นเล็กน้อยช่วงกลางปี แนวโน้มยังเดาไม่ออกว่า ถ้ามีภาวะเอลนีโญเกิดตลอดไปราคาสารเคมีจะยิ่งลดลง จากเกษตรกรไม่มีกำลังซื้อ พื้นที่เกษตรทำการเกษตรไม่ได้เหล่านี้คือปัญหา
“ทางสมาคมหวังทางออกสุดท้ายคือ นโยบายรัฐบาลใหม่ โดยรอผลโหวตนายกรัฐมนตรีวันที่ 22 สิงหาคมว่านายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีท่านใดจะมาดูแลกระทรวงเกษตรฯ โดยหวังว่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายภาคเกษตร ในการบริหารจัดการน้ำ เรื่องสารเคมี เรื่องราคาสินค้าต่าง ๆ ซึ่งเราคาดหวังรัฐบาลใหม่จะแก้ปัญหาให้ได้”นายจารึก กล่าว