นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวในเวทีเสวนาในหัวข้อ “การส่งออกผลไม้ไทย “แสนล้าน” สู่ตลาดโลก : เงื่อนไข กฎ ระเบียบ และแนวโน้มการส่งออก” โดยระบุว่า กรมฯไม่ได้อยากทำตัวเป็น regulator แต่ต้องการเป็น supporter หรือว่าเป็นคนอำนวยความสะดวกคอยสนับสนุนให้กับผู้ส่งออกทุกคน ซึ่งผู้ประกอบการบางส่วนหรือเกษตรกรบางส่วนก็ได้เข้ามาสู่ระบบ GAP หรือขึ้นทะเบียนกับกรมฯ อย่างไรก็ตามการขึ้นทะเบียนก็แล้วแต่ความสมัครใจของเกษตรกรแต่ละคน เพราะไม่ใช่ภาคบังคับ
ประการต่อมาที่เน้นย้ำสำหรับการส่งออก นั่นก็คือ คุณภาพ กับมาตรการสุขอนามัย สุขอนามัยพืช กล่าวคือ แมลงศัตรูพืช กับเรื่องสารตกค้าง กับเรื่องของการปนเปื้อน เมื่อโรงคัดบรรจุมีความเข้าใจในเรื่องนี้ สามารถที่จะตรวจสอบดูแลตัวเองได้ ขึ้นทะเบียนได้ กรมวิชาการเกษตรก็สามารถปล่อยมือได้เลย และทำหน้าที่กำกับดูแล ติดตามมอนิเตอร์
นายชัยศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีการขนส่งสินค้า ที่ถือเป็นจุดอ่อน -จุดเสี่ยง โดยในช่วงที่ผ่านมามีกรณีการแอบสวมสิทธิ์ -แอบเปิดตู้ระหว่างทาง ซึ่งการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก็ได้สร้างซีลสร้างโลโก้ขึ้นมา แล้วไปสู่กระบวนการเจรจาบนโต๊ะ
"สิ่งเหล่านี้เราไม่อยากให้เกิดขึ้น เรามีเชือกเป็นซัพพลายเซน เราไม่อยากผูกปมเพิ่มขึ้นมาปีละปมสองปม เราอยากให้เป็นซัพพลายเซนที่เป็นเชือกเส้นเดียวที่ไม่มีปมเลย อยากถอยสู่การกำกับดูแล อยากให้ทุกคนสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง อันนี้เป็นเป้าหมายของกรมวิชาการเกษตร ทุกคนสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ กรมวิชาการเกษตรมีเงื่อนไข มีกฎระเบียบ พร้อมซัพพอร์ท วันนี้มีช่องทางอยู่ การก้าวไปสู่จุดนั้นคือการร่วมมือร่วมใจของพวกเรา"
ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้าเกษตร ตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายของกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงไม่เพียงพอ แต่ทุกฝ่ายต้องสมัครใจ ของทั้งห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดต้องสมัครใจ ร่วมกันในการรักษามาตรฐานของผลไม้ อาทิ ทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก หรือ จันทบุรีโมเดล ที่มีการคัดคุณภาพโดยความสมัครใจของ ล้ง และเกษตรกร หากพบทุเรียนอ่อนไม่ได้มาตรฐานจะมีการปรับ 500 บาทต่อลูก ถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีการรักษาคุณภาพ