แต่ละปีที่ผ่านมารัฐบาลจะมี โครงการ/มาตรการดูแลชาวนากว่า 4.6 ล้านครัวเรือน ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้แนวโน้มราคาข้าวเวลานี้ดีมากทั้งราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ และราคาข้าวส่งออก จากความต้องการข้าวของโลกมีสูง ขณะที่เกษตรกรมีนํ้าทำนาจากมีฝนตกต่อเนื่อง คาดข้าวนาปีที่จะเก็บเกี่ยวช่วงปลายปีนี้จะยังมีมาก ไม่ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญมากนัก ดังนั้นเพื่อเตรียมดูดซับผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ต้องการคงรักษาเสถียรราคาข้าวก่อน และให้นำเสนอมาตรการต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ต่อไป
แหล่งข่าวจากที่ประชุมหารือแนวทางมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปี 2566/67 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในที่ประชุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการหารือถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ในการดูดซับข้าว สูงถึง 14 ล้านตัน ได้แก่
1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2566/67 เป้าหมาย 3 ล้านตัน ชาวนาจะได้รับสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก 5 ชนิด อาทิ ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ,ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 11,000 บาท เป็นต้น (กราฟิกประกอบ)
2.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าว (โรงสี/ผู้ส่งออก/ผู้ประกอบการข้าวถุง) ที่เข้าร่วมโครงการให้เก็บสต็อกในรูปแบบข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมายเพื่อดูดซับ 10 ล้านตัน โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา เดิม 3% โรงสีขอปรับ 4% ยังไม่สรุป เนื่องจากราคาข้าวปรับสูงขึ้น แต่ปีนี้พิเศษจูงใจให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ขอกู้ แต่ใช้เงินตัวเอง ก็ให้ค่าดำเนินการตันละ 150 บาท ในการเก็บข้าวด้วย
3.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 สำหรับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก เกษตรกรทั่วไป คิดจากสถาบันฯ เพียง 1% ต่อปี เป้าหมาย 1 ล้านตัน
4.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 หรือ “เงินไร่ละ 1,000 บาท” จ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือน ใช้งบประมาณ 55,000 ล้านบาท ซึ่งในที่ประชุมได้มีการถกเถียงเรื่องดังกล่าว เนื่องจากใช้เงินค่อนข้างจำนวนมาก ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะมีจัดสรรให้พอหรือไม่ พิจารณาแล้วราคาข้าวที่ค้าขายกัน ค่อนข้างดีมาก ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ควรคิดว่าเคยได้แล้วจะต้องได้ทุกปี ก็ไม่สมเหตุสมผล
อย่างไรก็ดีในที่ประชุมได้อนุมัติในหลักการ ส่วนที่เกษตรกรจะขอเพิ่มเติมไร่ละ 2,000 บาท จ่ายสูงสุด ไม่เกิน 20 ไร่ เป็น 40,000 บาท นั้น จะเสนอพ่วงเข้าไปด้วย โดยเป็นข้อเสนอจากสมาคมสถาบันชาวนาไทย ที่ประกอบด้วยตัวแทน 7 สมาคม ทั้งนี้แล้วแต่ทาง นบข.จะพิจารณาว่าอย่างไร
ด้านผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนของกรอบวงเงิน มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อจำกัดของวงเงิน ตอนนี้สถานะวงเงินแทบจะไม่เหลือแล้ว เพราะมีมาตรการพักหนี้เกษตรกรด้วย รวมทั้งพืชอื่น ๆ อีก และตามสถานการณ์เดิมที่มีการขยายกรอบเพดานหนี้เป็น 35% ในปี 2565 จะปรับลดมาเป็น 32%
สุดท้ายโดยหลักการมีเป้าหมายระยะปานกลางจะพยายามปรับกลับให้เหลือเท่าที่ระดับกรอบเดิมคือ30% เพื่อเป็นการรักษาวินัยการเงินและการคลังต้องชี้แจงไปสาธารณะ แต่ก็เข้าใจว่ารัฐบาลก็มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลเศรษฐกิจ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และเกษตรกรด้วย ซึ่งอยากจะขอร้องว่าถ้าเป็นโครงการเดิมที่มีเคยมีอยู่แล้วตัวเงื่อนไขการชดเชยขอให้เป็นเงื่อนไขเดิม เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องวงเงินตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
ขณะที่ผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เป็นห่วงว่า ถ้าข้าวมากระจุกตัวอยู่ในประเทศแล้วไม่ได้กระจายออก ก็อาจจะเป็นปัญหาในช่วงกลางปี 2567 และปัจจุบันดอกเบี้ยจากธนาคารแพงมากเชื่อว่าทุกคนอยากเข้าร่วมโครงการ ก็กลัวจะมีปัญหา ถ้าทุกรายเสนอเข้ามาเพื่อร่วมโครงการจะให้ใครก่อน-หลัง และในส่วนของผู้ประกอบการที่ไม่เข้าร่วมโครงการชดเชยดอกเบี้ยจะให้ค่าดำเนินการตันละ 150 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจการช่วยเก็บข้าว เพื่อความเท่าเทียมของทุกคน
ขณะที่นายสุเทพ คงมาก กรรมการ นบข. กล่าวว่า ณ เวลานี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งกรรมการ(บอร์ด) นบข.ชุดใหม่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเลย ต้องรอก่อนว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อไร อย่างไรก็ดีคาดการณ์ว่าข้าวหอมมะลิ พันธุ์ กข15 จะทยอยออกสู่ชุดแรกประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้ คาดชาวนาจะได้ราคาข้าวเกี่ยวสด ไม่ตํ่ากว่า 12,000 บาทต่อตัน
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,927 วันที่ 1-4 ตุลาคม พ.ศ. 2566