ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าการดําเนินงานจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี ปี 2569 พร้อมด้วย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายศรัณศักด์ ศรีเครือเนตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ ศิลปาคม อาคาร 1 ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติหลักการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 (ระดับ B) และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (ระดับ A1) ต่อสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
ต่อมา ครม. มีมติครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 อนุมัติกรอบงบประมาณการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 และจังหวัดนครราชสีมา วงเงินงบประมาณ 2,500 ล้านบาท และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 วงเงินงบประมาณ 4,281 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 6,781 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นโครงการที่ประชาชนให้ความสนใจ จึงได้เน้นย้ำในที่ประชุมให้มีดำเนินการเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด และต้องเป็นไปตามระเบียบราชการ มีความถูกต้อง และโปร่งใส นำไปสู่การจัดงานการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี ปี 2569 อย่างเรียบร้อยและสร้างชื่อเสียงที่ดีให้กับประเทศไทย
“นายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยต่อการดำเนินการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จึงได้มอบหมายให้ผม และท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายไชยา พรหมา ติดตามความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาที่ติดขัด เบื้องต้น ในด้านการจัดซื้อจัดจ้าง อาจใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบรัฐต่อรัฐหรือวิธีคัดเลือก หรือวิธีพิเศษ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และเสร็จตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ได้ขอให้บริษัทผู้ออกแบบ พิจารณาปรับ Master Plan และกรอบระยะเวลา (Timeline) สำหรับประเด็นที่ยังติดขัด คือเรื่องการขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด เพื่อจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ซึ่งขณะนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE)
โดยในเรื่องนี้ ตนได้ประสานไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ทำหนังสือตอบข้อคิดเห็นกลับมายังกระทรวงเกษตรฯ เพื่อจะได้นำเข้าที่ประชุม ครม. ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ เพื่อขอให้ทบทวนมติ ครม. เรื่องทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อให้สามารถดำเนินการด้านการปรับพื้นที่ และด้านโครงสร้างได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้เร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนประเทศสมาชิกเข้าร่วมและจัดแสดงในงานมหกรรมพืชสวนโลกอีกด้วย” รมว.เกษตรฯ กล่าว
สำหรับแผนการบริหารจัดการโครงการและงบประมาณการดำเนินงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี รวมทั้งสิ้น 2,500 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่งานจัดตกแต่งภูมิสถาปัตยกรรม งานสาธารณูปโภค และงานอาคาร งบประมาณ 1,811.76 ล้านบาท (จังหวัดอุดรธานี 1,686.76 ล้านบาท กรมวิชาการเกษตร 125 ล้านบาท) และการบริหารจัดการประชาสัมพันธ์ และการจัดกิจกรรมตามข้อกำหนดของ AIPH การบริหารโครงการ การประสานงานต่างประเทศ งบประมาณ 533.50 ล้านบาท
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รายงานความคืบหน้า ว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนจังหวัดอุดรธานี ในประเด็นการปรับงบประมาณภายใต้แผนงานในกรอบวงเงิน 2,500 ล้านบาท โดยเห็นควรให้มีการปรับโครงสร้างงบประมาณในส่วนของแผนงานการจัดตกแต่งภูมิสถาปัตยกรรม งานสาธารณูปโภคและงานอาคาร ที่มีงบประมาณอยู่รวม 1,811.76 ล้านบาท โดยมองว่ามหกรรมพืชสวนโลกต้องมุ่งเน้นในด้านของการนำเสนอพืชสวนเป็นหลัก ซึ่งควรเป็นส่วนของการปลูกพืชพร้อมการดูแลรักษา จำนวนอย่างน้อย 800 ล้านบาท (หรือประมาณร้อยละ 30 ของกรอบวงเงินรวม)
โดยจังหวัดอุดรธานีรับไปพิจารณาปรับลดรายละเอียดค่าใช้จ่ายในส่วนของจังหวัด ซึ่งจากการประชุมการจัดเตรียมข้อมูลความก้าวหน้าในการดำเนินการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ในวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 จังหวัดได้รับหลักการ พร้อมทั้งได้แจ้งบริษัทผู้ออกแบบให้ออกแบบให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างงบประมาณ สำหรับงบในส่วนอื่น ๆ มีความจำเป็นต้องคงไว้ตามเดิม
ทั้งนี้ งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.2569 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต: สายสัมพันธ์แห่งผู้คน สายน้ำ และพืชพรรณ สู่การดำรงชีวิตที่ยั่งยืน” พื้นที่รวม 1,030 ไร่ พื้นที่ดำเนินกิจกรรม 975 ไร่ ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570 รวมระยะเวลาจัดงาน 134 วัน ณ พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี