บทความโดย : รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช
ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด
ข้าวไทยส่งออกไปขายมากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก (โลกมีประเทศทั้งหมด 193 ประเทศ) สะท้อนว่าเกือบทุกประเทศได้มีโอกาสกินข้าวของไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศอย่าง “กาบอง (Gabon)” ในแอฟริกากลาง ที่เพิ่งปฏิวัติไปเมื่อ 30 ส.ค. 2566 (มีนักฟุตบอลชื่อดังคือ ปีแยร์-แอเมอริก เอมีลียาโน ฟร็องซัว โอบาเมอย็องก์) และ “ประเทศไนเจอร์ (Niger)” ในแอฟริกาตะวันตก ที่เพิ่งปฎิวัติเช่นกัน เมื่อ 26 ก.ค.2566 ก็นำเข้าข้าวสารจากประเทศไทย
ปี 2022 ทั่วโลกผลิตข้าวเปลือกได้ 787 ล้านตัน เป็นข้าวสาร 503 ล้านตัน ผลผลิตข้าวสารรวมของจีนกับอินเดียคิดเป็น 55% ผลผลิตข้าวสารโลก แต่จีนมีความต้องการบริโภคในประเทศสูง เลยต้องนำเข้าข้าวสารจากต่างประเทศ
ในขณะที่อินเดียมีข้าวเหลือ ทำให้สามารถนำข้าวสารไปส่งออกได้ สำหรับไทยมีศักยภาพผลิตข้าวสารได้เพียง 4% ของผลผลิตข้าวสารโลก รองจากประเทศอาเซียนอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย ปี 2565 ไทยผลิตข้าวเปลือกได้ 33 ล้านตัน เป็นข้าวไทย 20 ล้านตัน เป็นผลผลิตข้าวขาว 40% ข้าวหอมมะลิ 30% ข้าวเหนียว 20% ข้าวหอมปทุมธานี 6% และที่เหลือเป็นข้าวอื่นๆ
สินค้าเกษตรที่เป็น “พืช” โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ทำหน้าที่ “3F (Food Feed Fuel)” คือ เพื่อการบริโภคของคน เพื่ออาหารสัตว์ และเพื่อพลังงานทางเลือก “ข้าวสารร้อยละ 80 วัตถุประสงค์เพื่ออาหารคน (Food)” ที่เหลือไปทำพลังงานทางเลือก ต่างกับข้าวโพดที่ร้อยละ 75 เพื่ออาหารสัตว์ (Feed)
ประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักของโลก คือ อินเดีย ไทย เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา สหรัฐฯ จีน กัมพูชา บราซิล และอุรุกวัย เมื่อประเมิน 10 ปีย้อนหลังของตลาดข้าวโลก ผู้ส่งออกข้าวหลักมี 3 ประะเทศ คือ อินเดีย (37%) ไทย (14%) และเวียดนาม (14%) เพราะมีสัดส่วนการส่งออกรวมสูงกว่าประเทศอื่น ๆ
แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของ 3 ประเทศส่งออกหลักลดลงจาก 72% เหลือ 65% ของปริมาณการส่งออกโลก “เพราะ 5 ปีย้อนหลัง ข้าวเวียดนาม และไทย ส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ในขณะที่อินเดียและประเทศอื่น ๆ ส่งออกเพิ่มขึ้น”
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกข้าวโลกเพิ่มจากปีละ 32 ล้านตัน เป็น 35 ล้านตัน “ตลาดข้าวไทย” ส่งออกใน 5 ตลาดหลักคือ เอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอาเซียน เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปตลาดหลักคือตะวันออกกลาง สัดส่วน 60% แอฟริกา สัดส่วน 20% และอาเซียน สัดส่วน 15% ตามลำดับ
แต่หลัง 5 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างตลาดข้าวไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็น “เดินหน้า 2 ถอยหลัง 3” หมายความว่า เพิ่มขึ้นใน 2 ตลาดคือ แอฟริกาและยุโรป แต่ลดลงในตลาด 3 ตลาด คือตะวันออกกลาง เอเชีย และอาเซียน โดย ตลาดตะวันออกกลางที่เคยครองอันดับ 1 เหลือ 25% มีตลาดแอฟริกาเข้ามาแทนที่เป็นอันดับ 1 สัดส่วนเพิ่มจาก 20% เป็น 40% และตลาดยุโรปอันดับ 2 เพิ่มจาก 5% เป็น 25% ในขณะที่ตลาดตะวันออกกลาง เอเชียและอาเซียนลดลง ตลาดตะวันออกกลางลดลงเพราะ “ข้าวอินเดีย” ส่วนตลาดเอเชียและอาเซียนลดลงเพราะ “ข้าวเวียดนาม” รวมถึงประเทศเอเชียและอาเซียนหันมาผลิตข้าวเอง
“มูลค่าและปริมาณส่งออกข้าวไทย” ไทยเคยส่งออกข้าวสารสูงสุดที่ 10 ล้านตัน และต่ำกว่า 5 ล้านตัน (2020) ส่วนปี 2566 ตั้งเป้า 8 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกเคยสูงสุด 1.7 แสนล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 1 แสนล้านบาทต้น ๆ “คู่แข่งข้าวไทย” เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกข้าวไทยเทียบกับคู่แข่งอย่างอินเดีย และเวียดนาม พบว่า มูลค่าข้าวไทยต่ำกว่า 2 ประเทศ ในทุกตลาด ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ปริมาณส่งออกข้าวอินเดียสูงขึ้นจากโดยเฉลี่ยส่งออกปีละ 10 ล้านตัน เป็นมากกว่า 18 ล้านตันในปี 2022
แต่ในปี 2023 (วันที่ 20 ก.ค. 2566 รัฐบาลอินเดียห้ามส่งออกข้าว Non-Basmati white rice และในวันที่ 25 ก.ค.เก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่ง 20% HS 1006 30 10) อินเดียห้ามส่งออกข้าว ทำให้การส่งออกข้าวอินเดียหายไปจากตลาดโลก ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสทองของการส่งออกข้าว
เราจะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาพ “Sandwich” คือไทยอยู่ตรงกลาง เจอทั้งปัญหาต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงกว่าประเทศ ต้องแข่งกับข้าวเวียดนาม และช่วงหลังแข่งกันข้าวอินเดีย ไทยต้องมานั่งทบทวนการแข่งขันข้าวทั้งระบบในอีก 10 ปีข้างหน้า