นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ได้รับหนังสือจากสำนักงานศาลปกครองระยอง คดีหมายเลขแดงที่ 327/2566 โดยศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่อยู่ในฐานะที่เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 31 มกราคม 2566 ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลจึงไม่อาจรับคำสั่งฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาได้ และกรณีไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดี จึงมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
“ผมได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถแล้ว และขอแสดงความเสียใจด้วยที่ศาลปกครองไม่รับฟ้อง ดังนั้นสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยจึงขอให้เกษตรกชาวสวนยางทั่วประเทศประเทศรวมประมาณ 21 ล้านไร่ ที่จะอยากขอให้รัฐยกเว้นภาษีที่ดินที่เก็บร้อยละ 1.2 ให้เหลือต้นยางที่งอกจากเมล็ดไว้ในสวนจะรักษาความชื้นให้เป็นป่ายาง จะได้ไม่เป็นโรคเปลือกแห้ง น้ำยางจะออกดี และมีจำนวนต้นยางเกินกว่า100 ต้นต่อไร่ เพี่อจะได้เสียภาษีเพียงร้อยละ 0.15 เท่านั้น”
นายอุทัย กล่าวว่า ความหวังต่อไปของเกษตรกรชาวสวนยาง รอความหวังจากร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะยื่นเรื่องต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้แก้ไขตาม พ.ร.บ.การยางฯ มาตรา 4 ซึ่งมีจำนวนต้นยางเฉลี่ย 25 ต้น /ไร่ เป็นความหวังเฮือกสุดท้าย
นอกจากนี้ทางสมาคมได้ทำหนังสือเพื่อขอเข้าพบเพื่อแสดงความยินดีกับร้อยเอกธรรมนัสที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเกษตรฯคนใหม่ และจะนำปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหายางระบบอย่างยั่งยืน โดยได้ส่งหนังสือไปตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2566 ผ่านมาร่วม 2 เดือน ยังไม่มีคำตอบว่าจะให้พบเมื่อไร ดังนั้นขอฝากท่านช่วยพิจารณา ด้วย