“พิมพ์ภัทรา” จ่อออกมาตรการบริหารจัดการ"น้ำตาลทราย"เป็นการเฉพาะ

14 พ.ย. 2566 | 03:46 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2566 | 03:46 น.

“พิมพ์ภัทรา” จ่อออกมาตรการบริหารจัดการ"น้ำตาลทราย"เป็นการเฉพาะ ระบุสำรองสำหรับฤดูการผลิตปี 2566/67 เดินหน้าสั่งการให้ สอน. เร่งหาแนวทางร่วมกับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่มีกระแสข่าวถึงสถานการณ์การจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ตึงตัว จึงได้สั่งการให้ สอน. เร่งหาแนวทางร่วมกับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค 

ขณะเดียวกันได้กำชับให้ สอน. หาแนวทางเพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ล่าสุดได้เชิญโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง ประชุมหารือถึงสถานการณ์การจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ 

โดย สอน. ได้รับทราบปัญหาและอุปสรรคของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลถึงสถานการณ์การจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศในปัจจุบัน และขอความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลในการดูแลปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับผลกระทบ

“พิมพ์ภัทรา” จ่อออกมาตรการบริหารจัดการ"น้ำตาลทราย"เป็นการเฉพาะ

สำหรับแนวทางการรักษาสมดุลให้มีปริมาณน้ำตาลทรายเพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ สอน. ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงทั่วประเทศ รายงานปริมาณสต๊อกคงเหลือส่งให้ สอน. เป็นประจำทุกวัน 

อย่างไรก็ดี อาจจะมีมาตรการในการบริหารจัดการปริมาณน้ำตาลทรายสำรองสำหรับฤดูการผลิตปี 2566/67 เป็นการเฉพาะเพิ่มเติม
 

“โดยในฤดูปีการผลิตที่ผ่านมา ปริมาณน้ำตาลทรายที่บริโภคในประเทศมีจำนวน 26 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 100 กก.) และในฤดูการผลิตปี 2566/67 สอน. คาดการณ์ตัวเลขปริมาณน้ำตาลทรายที่บริโภคในประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 - เดือนกันยายน 2567 จะมีประมาณ 25 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 100 กก.)"

ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตน้ำตาลทรายที่ผลิตได้อยู่ที่ประมาณ 93.32 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 100 กก.) จากประมาณการณ์อ้อยเข้าหีบจำนวน 82 ล้านตัน ซึ่ง สอน. จะบริหารจัดการการจำหน่ายน้ำตาลภายในประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำตาลทรายเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ