เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ นร 0505/24163 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เรื่องขออนุมัติปรับเพิ่มราคานํ้านมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนม โดยปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อนํ้านมโคหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมจากกิโลกรัม (กก.) ละ 20.50 บาท เป็น กก.ละ 22.75 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2.25 บาทต่อ กก. ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) แล้ว อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มราคานํ้านมโคดังกล่าวจะส่งผลให้ราคากลางนมโรงเรียนเพิ่มขึ้นถุง หรือกล่องละ 0.46 บาท นั้น
แหล่งข่าวจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนนํ้านมโคดิบสูงขึ้นมาจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในตลาดโลก รวมถึงค่าบริหารและขนส่งมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรโคนมรายย่อย (ฟาร์มขนาดเล็ก) ต้องรับภาระต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงเห็นว่าการให้ความช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโคนมกลุ่มดังกล่าว แทนการปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบจะเป็นผลดีกับกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า รวมทั้งจะช่วยลดผลกระทบต่อราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนด้วย
เช่นเดียวกับผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ที่เห็นว่าการปรับราคากลางนํ้านมโคเพิ่มจะทำให้ราคากลางนมโรงเรียนเพิ่มขึ้นถุงหรือกล่องละ 46 สตางค์ ก่อให้เกิดภาระงบประมาณในการจัดซื้อระยะยาว อีกทั้งทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประสบปัญหาการแข่งขันจากต่างประเทศ จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ดังนั้นจึงเห็นว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และหาวิธีลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมโคนมกับต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมนมเติบโตเพิ่มขึ้นทั้งระบบ จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคนมอย่างยั่งยืน อีกทั้งทำให้มีรายได้และกำไรเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ขณะที่นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ กล่าวว่า หากไม่ปรับราคากลางในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปี 2567 นั้นจะทำให้สหกรณ์-เอกชน ที่ได้ทำเอ็มโอยูไว้ 161 โรง ต้องขาดทุน 46 สตางค์ต่อกล่อง คูณด้วยจำนวนเด็กนักเรียน 6.8 ล้านคน คำนวณออกมาแล้วจะขาดทุนวันละ 3.8 ล้านบาท หากคิดคำนวณเป็น 1 เทอม จำนวน 130 วัน คูณด้วย 3.8 ล้านบาท จะขาดทุนประมาณ 494 ล้านบาทต่อเทอม หากคิดรวมสองเทอม จะขาดทุน 988 ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้โครงการนมโรงเรียนอาจจะมีปัญหาได้ในอนาคต
สำหรับในปี 2566/67 มีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายนํ้านมโค ที่ผู้ซื้อและผู้ขายลงนามระหว่างกัน ปริมาณนมรวม 2,983.013 ตันต่อวัน และมีคู่ MOU จำนวน 429 คู่ รวมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนม 126 แห่ง แยกตามวัตถุประสงค์ (กราฟิกประกอบ) ดังนี้ 1.นมผงขาดมันเนย ปริมาณนํ้านม 863.955 ตันต่อวัน 2. ครีม ปริมาณนม 35.438 ตันต่อวัน 3.นมโรงเรียน ปริมาณ 2,064.730 ตันต่อวัน และอื่น ๆ 18.890 ตันต่อวัน
ด้านนายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยว่า ได้ตัดสินใจลาออกจากประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย เนื่องจากมีภารกิจเพิ่มขึ้นมาก ที่ผ่านมาได้พยายามผลักดันเรื่องการปรับราคานํ้านมดิบให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งใช้เวลา 4-5 เดือนแล้ว มองว่าวันนี้ควรจะเปิดโอกาสให้กับว่าที่ประธานฯคนใหม่ที่จะช่วยต่อสู้ให้กับพี่น้องเกษตรกรให้บรรลุเป้าหมาย เพราะถ้าหากตนยังดำรงตำแหน่งอยู่ ประกอบกับไม่มีเวลาเกรงว่าการต่อสู้เรียกร้องจะไม่สะดวก ทั้งนี้ประธานชุมนุมสหกรณ์ฯ คนใหม่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 28 พ.ย.นี้
ควันหลงบรรยากาศการต่อสู้เกษตรกรโคนม โดยสรุป
1.ขอเข้าพบร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดำเนินการปรับราคาน้ำนมให้จบอย่างเร่งด่วน
2.หลังเข้าพบภายใน 7 วันแล้วยังไม่ดำเนินการหรือยังไม่มีผลการปรับราคาน้ำนมจะดำเนินการต่อโดยการฟ้อง
3.ฟ้อง ครม.กระทำผิด พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม เพราะใน พรบ.กำหนดให้ ครม.แค่รับทราบมติของมิลค์บอร์ดเท่านั้นไม่มีอำนาจทบทวนและยับยั้ง