ผู้สื่อข่าวรายงาน (21 พ.ย. 2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อ "ทีมไทยแลนด์" พร้อมด้วย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ที่ประจำอยู่ทั่วโลก และฝ่ายส่งเสริมการลงทุน ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายชัดเจนในการทำงานครั้งใหม่ เริ่มต้นจากการร่วมมือ หลอมความคิด หลอมนโยบาย หลอมเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน
โดยการร่วมมือครั้งนี้ เอกอัครราชทูตจากทั่วโลก ทูตพาณิชย์จากทั่วโลก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือสำนักงานบีโอไอทั่วโลก จะจับมือกันในการทำงานให้เป็นไปทิศทางเดียวกัน จากที่นายกรัฐมนตรีได้ไปเปิดตลาด และเปิดทางให้แล้วในหลายประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการชัดเจนให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ดูแลทูตพาณิชย์ สำนักงานปลัดที่ดูแลพาณิชย์จังหวัด เดินหน้า และจะตามต่อ เช่นที่นายกรัฐมนตรีไปพบกับผู้บริหารของไมโครซอฟท์ และ Google และมีแผนการลงทุนในไทย ทูตพาณิชย์ที่ประจำที่สหรัฐฯก็จะไปตามต่อ และอำนวยความสะดวกให้สิ่งที่ท่านนายกฯพูด บังเกิดผลจริง และกระทรวงการต่างประเทศ นโยบายก็จะไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับในวันนี้ 3 หน่วยงานทั้งบีโอไอ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ได้คุยกันในเชิงลึกขึ้น โดยได้คุยถึงจุดยุทธศาสตร์ที่มีอยู่ 10 จุด ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อหาตลาดใหม่ และรักษาตลาดเก่า ที่จะขยายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะเดินไปในทิศทางที่ท่านนายกฯต้องการ เช่น ประเทศจีนเวลานี้ก็ดำเนินการอยู่ไปถึงระดับมณฑล 6-7 มณฑล โดยแต่ละมณฑลมีประชากรถึง 100 ล้านคน มากกว่าประเทศไทย และผู้แทนการค้าคุยกันเรื่องการเปิดตลาด ตอนนี้จีนก็ประกาศว่าจะเป็นตลาดของโลก ก็เป็นโอกาสดีที่จะให้ทูตพาณิชย์อาศัยโอกาสนี้ นอกจากนี้ยังจะบุกตลาดตะวันออกกลาง และตลาดเแอฟริกา จะทำให้ตลาดการค้าของไทยใหญ่ขึ้น
ด้าน FTA กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กำลังดำเนินการหลายเรื่อง ที่คาดว่าปลายปีนี้จะจบ คือ FTA ไทย-ศรีลังกา ส่วน FTA ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ก็กำลังเดินหน้าหาทางหาประโยชน์ร่วม และไทยยังสนใจในการทำ FTA กับสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งได้เริ่มต้นเปิดเจรจาแล้วแต่จะให้มีความชัดเจนมากขึ้น และยังมีการเจรจากันในอีกหลายเรื่องทั้งประมง IUU และอื่น ๆ ซึ่งตนได้พบกับทูตอียู และจะเริ่มความสัมพันธ์ครั้งนี้ให้มากขึ้น
"ที่ท่านนายกฯให้นโยบายวันนี้เป็นฐานสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้น ที่จะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน ถ้าหล่อหลอมวิญญาณ หลอมจิตใจทั้งหน่วยงานราชการให้ไปประสานกับฝ่ายเอกชน รัฐบาลนี้มีเอกชนเป็นทัพหน้า มีศักยภาพมีความสามารถในการไปลงทุน หลายส่วนมีศักยภาพ ถ้าจะให้ดีรัฐบาลเป็นแบ็คอัพให้ดำเนินการได้จะทำได้ดีกว่านี้ และเรากำลังเริ่มต้นให้เอสเอ็มอีของเราขยายบทบาท ซึ่งรัฐต้องให้ความสำคัญ เปลี่ยนรัฐที่เป็นอุปสรรคให้เป็นรัฐที่ส่งเสริมสนับสนุน เป็นรัฐดิจิทัลช่วยหาทางออก"
จากนี้ไปรัฐบาลกำลังทบทวนกฏหมายต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค ที่ต้องแก้ไข เพราะบางฉบับเก่ามาก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2400 อาจเหมาะสมในขณะนั้น แต่ไม่ใช่วันนี้ โลกเปลี่ยนไปมาก ถ้าไม่เท่าทันโลกและไม่สร้างการพาณิชย์ยุคใหม่ ไม่สร้างเครื่องมือใหม่จะตามไม่ทันโลก รวมถึงเรื่อง Soft Power ก็เป็นเรื่องสำคัญและกำลังเดินหน้า คนในประเทศต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อจะได้เป็นเครื่องมือเดินหน้าไปอย่างมีพลัง