5 สถาบันศึกษาลุยวิจัยวิถีประมงพื้นบ้าน ต่อยอด “กลางเล” สร้างรายได้

23 พ.ย. 2566 | 05:19 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2566 | 05:32 น.

5 สถาบันศึกษาลุยวิจัยวิถีประมงพื้นบ้านปัตตานี ต่อยอดแบรนด์ “กลางเล” สร้างรายได้เข้าชุมชน หวังยกระดับเศรษฐกิจชุมชนชายฝั่งทะเล จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจร้านอาหารในกรุงเทพกับผู้ประกอบการปัตตานี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยว่า การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี หนึ่งในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จับมือเครือข่าย 4 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, มหาวิทยาลัยสยาม และ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ทำงานวิจัยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการประมงเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอาหารทะเล ในพื้นที่จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ด้วยทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดยมีเป้าหมายในการยกระดับรายได้เศรษฐกิจชุมชนประมงชายฝั่งซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารทะเลกว่า 30ราย  ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์โควิด-19 ให้สามารถยืนต่อได้  ด้วยกลไกการตลาดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี และสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านให้สามารถช่วยเหลือตนเอง ทั้งนี้ ทีมวิจัยคาดว่าจะช่วยให้ให้เศราฐกิจในชุมชนเติบโตกว่า 30% และมีแนวโน้มโตอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสและกระจายรายได้สู่ชุมชนที่เป้นชาวประมงพื้นบ้านได้กว่า 500 ครัวเรือน

 

นอกจากนี้ยังได้ขยายผลการต่อยอดและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์กับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการประมง ในการขับเคลื่อนธุรกิจอาหารทะเลโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี  ซึ่งได้พัฒนาโมเดลธุรกิจ ที่เพิ่มการส่งเสริมการตลาดและจับคู่ธุรกิจอาหารทะเล (Seafood Business Matching) เพื่อเชื่อมโยงผลผลิตอาหารทะเลในพื้นที่จากผู้ประกอบการท้องถิ่นสู่ผู้ประกอบการร้านอาหาร

“Fishmonger Ari” เป็นหนึ่งในธุรกิจร้านอาหารที่ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบอาหารทะเลจากท้องถิ่นของประเทศไทยให้เป็นที่แพร่หลาย และสร้างการรับรู้ต่อผู้บริโภค ถึงวัตถุดิบอาหารทะเลที่มีความสด สะอาด อร่อย และปลอดภัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อภิรักษ์  กล่าวอีกว่า ถือเป็นครั้งแรกของการนำงานวิจัยทางด้านอาหารทะเลทางภาคใต้ มาจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอาหารทะเลให้สามารถจับคู่ธุรกิจกับร้านอาหารในกรุงเทพฯ ได้ นับเป็นการขยายผลงานวิจัยให้สามารถเกิดการใช้ประโยชน์และใช้งานได้จริง ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจจาก จ.ปัตตานี ผลักดันเข้าสู่ธุรกิจงานอาหารได้จริง  เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจประมงในจังหวัดปัตตานี มีขีดความสามารถในการจับสัตว์น้ำสูง แต่ยังขาดทักษะในการจัดการคุณภาพสัตว์น้ำหลังการเก็บเกี่ยวและการสร้างการรับรู้ถึงที่มาผลผลิตคุณภาพ ทีมวิจัยจึงเข้าไปช่วยพัฒนากระบวนแปรรูปสัตว์น้ำให้ได้คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด  และสร้างการรับรู้ผ่านโมเดลธุรกิจใหม่ๆ

5 สถาบันศึกษาลุยวิจัยวิถีประมงพื้นบ้านปัตตานี

 

“เพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านและชาวบ้านหรือผู้ประกอบการในพื้นที่มีรายได้ ปีที่ผ่านมาทีมวิจัยได้มีสร้างแบรนด์ “กลางเล” เพื่อช่วยเหลือประมงพื้นบ้านทางภาคใต้ โดยเริ่มต้นที่ จ.ตรัง และใช้เป็นต้นแบบของการทำงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือประมงพื้นบ้านทางภาคใต้และต่อยอดมาถึงปัตตานีเพื่อเป็นการสร้างแบรนด์สินค้าให้กับชุมชน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อภิรักษ์   กล่าวว่า ทีมวิจัยมองเห็นโอกาสที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน ด้วยการใช้เทคโนโลยีและช่องทางการค้าขายออนไลน์ ซึ่งประสบความสำเร็จและสร้างผู้ประกอบการท้องถิ่นให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน ต่อยอดธุรกิจได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้ทีมวิจัยสามารถขยายผลการวิจัยในปีถัดมาให้ออกไปสู่ชาวประมงพื้นบ้านรายอื่นสามารถทำตามได้ และทำให้ทีมวิจัยสามารถขยับการทำวิจัยขยายผลสู่การประมงเชิงพาณิชย์ จ.ปัตตานี ผลักดันให้เกิดการจับคู่ธุรกิจในงานวิจัย ซึ่งการจับคู่ธุรกิจอาหารทะเลในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งต่อคุณค่าอาหารทะเลจากท้องถิ่นสู่การสร้างคุณค่าด้วยเมนูโดยร้านอาหารทะเลในเมือง

โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดการนำองค์ความรู้ไปบริหารจัดการธุรกิจอาหารทะเลอย่างแท้จริง ตั้งแต่การวิเคราะห์หน่วยธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน การจัดการคุณภาพผลผลิตสัตว์น้ำ การจัดการทางด้านการตลาด และการออกแบบแผนธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีการกระจายได้สู่ผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ และในอนาคตจะสามารถขยายการเปลี่ยนแปลงไปยังผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทะเลในจังหวัดอื่นๆ ได้มากขึ้น ทำให้ไทยสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมประมง รองรับความต้องการอาหารปลอดภัยที่กำลังเป็นกระแสทั่วโลก

ทั้งนี้กิจกรรมส่งเสริมการตลาดและจับคู่ธุรกิจอาหารทะเล ในครั้งนี้ได้เชิญผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จากแพปูโชคอุดมรัชฏ์ ที่มีผลผลิตสัตว์น้ำกลุ่มปูม้า ปลาทะเล กุ้งและหมึก มานำเสนอผลผลิตคุณภาพจากต้นทางการประมงที่มีความรับผิดชอบ และมีธุรกิจร้านอาหารมีชื่อเสียงในกรุงเทพ Fishmonger ซึ่งมีจุดเด่นคือใช้วัตถุดิบอาหารทะเลคุณภาพจากทะเลไทย ซึ่งให้ความสนใจที่จะสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ  คาดว่าในอนาคตคู่ธุรกิจดังกล่าวจะสามารถมีรายได้เกิดขึ้นมากกว่า 2 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตามทีมวิจัยมองว่าในอนาคตการขับเคลื่อนธุรกิจอาหารทะเลจะต้องเร่งเพิ่มเทคโนโลยีในการจัดการคุณภาพ และสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพที่สม่ำเสมอ มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้จริง เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าได้รับประทานอาหารทะเลที่มีคุณภาพความสดตรงตามเรื่องราวที่ถูกนำเสนอ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องพัฒนางานวิจัยในการขยายการสร้างชาวประมงที่ทักษะความสามารถในการทำการประมงที่มีจรรยาบรรณที่ดี การสร้างมาตรฐานและคุณภาพสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการจัดวัตถุดิบขึ้นต้นสู่ปลายน้ำ รวมถึงสนับสนุนการวิจัยแพลตฟอร์มการขนส่งที่ได้มาตรฐาน