ในล็อตแรกกลุ่มฮามาสได้ปล่อยตัวประกันออกมาแล้ว 24 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 10 คน ส่วนอิสราเอลได้ปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนจำนวน 139 คน ขณะที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ถูกส่งเข้าไปยังฉนวนกาซาจำนวนมาก แต่สถานการณ์ข้างหน้าจะพัฒนาไปอย่างไรนั้นยังต้องติดตาม
อย่างไรก็ดีอีกด้านหนึ่ง ผลกระทบกับประเทศไทยที่ทำการค้ากับอิสราเอล หลังสงครามอิสราเอล-ฮามาสปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ยังน่าห่วง
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล รายงานว่า การค้าไทย-อิสราเอล ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 32,393 ล้านบาท (ลดลง ร้อยละ 4.98) โดยไทยส่งออกไปอิสราเอล 20,686 ล้านบาท (ขยายตัว ร้อยละ 7.28) และนำเข้าจากอิสราเอล 11,707 ล้านบาท (ลดลง ร้อยละ 20.94)
สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปอิสราเอล 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และข้าว ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอิสราเอล 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี, ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้
ทั้งนี้ช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 อิสราเอลเป็นคู่ค้าอันดับที่ 40 ของไทย และอันดับ 6 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง
สำหรับผลกระทบต่อไทยหากสงครามยืดเยื้อยาวนาน คาดเศรษฐกิจของอิสราเอลถดถอยย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของอิสราเอลกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการค้ากับไทย โดยเวลานี้ สงครามได้เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจถดถอย และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงของอิสราเอลแล้ว
ล่าสุด JP Morgan คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของอิสราเอลในปี 2566 จะเติบโต 2.5% ลดลงจากคาดการณ์เดิมครั้งก่อนอยู่ที่ 3.2% และในปี 2567 คาด GDP ของอิสราเอลจะขยายตัวได้ที่ 1.9% ลดลงเล็กน้อยจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 2.0 % ขณะที่ธนาคารแห่งอิสราเอลคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ 2.5% ในปีหน้า และการเติบโตของ GDP ยังคาดการเป็นบวกอยู่ที่ 2.8%
สำหรับแนวทางการรับมือของไทย สคต. ณ กรุงเทลอาวีฟ ระบุว่า จะต้องติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่เกี่ยวข้องทุกวัน และวิเคราะห์ผลกระทบ รวมถึงแนวทางการแก้ไขให้ทันต่อเหตุการณ์ การหารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไข ศึกษาโอกาสส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยในตลาดอื่น ๆ เพื่อทดแทนตลาดอิสราเอล หากสงครามยืดเยื้อรุนแรง
สคต. ณ กรุงเทลอาวีฟ รายงานอีกว่า ล่าสุดอิสราเอลได้ลงนามนำเข้าแรงงานศรีลังกา 10,000 คน เนื่องจากภาคการเกษตรของอิสราเอลเริ่มขาดแคลนแรงงาน และอาจส่งผลต่อผลิตผลการเกษตรในประเทศ