นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยวันนี้ (23 พ.ย.) ภายหลังการประชุมนำเสนอ "ประเทศเป้าหมายสำคัญสำหรับการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก" ต่อนายกรัฐมนตรีโดยกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ว่า นายกฯ ได้มารับฟังสรุปการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ ที่ได้ร่วมการประชุมกับทางผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ และผู้ช่วยทูตฝ่ายการลงทุน ได้มีการกำหนด ประเทศเป้าหมายหลัก 10 ประเทศ ที่ไทยจะส่งเสริมการการค้า-การลงทุน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
ทั้งนี้ ตลาดอื่นๆส่วนที่เหลือ ก็ถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญกับประเทศไทย เช่น อียู แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งตลาดเหล่านี้ จะมีการส่งเสริมเป็นอันดับต่อไป
นอกจากนั้น ในการทำงานของทั้ง 3 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานบีโอไอ จะร่วมกันทำงานส่งเสริมการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกในต่างประเทศ ซึ่งในห้วงของการประชุม 3 วันที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมาก คือ เรื่องการที่ประเทศไทยจะต้องมีการเจรจาทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแต้มต่อสำหรับการค้าการลงทุนของประเทศไทยต่อไป
ที่ประชุมยังมีการพูดถึงความมุ่งหมายของไทยในการจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของโออีซีดี (OECD) หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับมาตรฐานสิ่งต่างๆในประเทศไทยมากขึ้นด้วย การใช้ประโยชน์จากกลุ่มภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทย มีประชากรรวมกว่า 700 ล้านคน (ขณะที่ไทยเองมีประชากรราว 70 ล้านคน)ทำให้เมื่อมองภาพในแง่ห่วงโซ่อุปทาน นี่จึงเป็นตลาดขนาดใหญ่ของไทย "ซึ่งเราจะใช้ความเข้มแข็งของอาเซียนในการที่จะส่งเสริมประเทศไทยในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงทั้งเอเชียตะวันออกที่มีตลาดใหญ่อย่างจีน เข้ากับเอเชียใต้ที่มีอินเดีย กับภูมิภาคอาเซียน ที่มีระดับการเจริญเติบโตที่เข้มแข็งและต่อเนื่อง" โฆษกกต.ระบุ และยังกล่าวด้วยว่า
"สิ่งที่นายกฯ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความสำคัญ คือ การทำงานกันอย่าง Customer Centric คือเราต้องมุ่งมองว่าประชาชนคือลูกค้าของเรา คือผู้ที่รัฐจะต้องให้บริการ ให้เขาได้รับประโยชน์ และเขาจะได้รับประโยชน์อะไร ให้คณะทำงานถามตัวเองเสมอว่า งานที่เราทำจะมีผลที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชนอย่างไร นายกฯกล่าวย้ำให้ใช้ Can-Do Attitude คือ เราจะไม่ยอมรับคำว่า ทำไม่ได้ แต่ว่าเมื่อเจอสิ่งใดที่คิดว่าทำไม่ได้ ให้ดูว่าเราจะมีหนทางต่างๆหนทางใดบ้างที่จะทำให้บรรลุผลหรือเป้าประสงค์ที่เราต้องการได้
ประเด็นอื่นๆที่มีการคุยกันในห้วง 3 วันของการประชุม ยังได้มีการคุยกับภาคส่วนต่างๆด้วย เช่น ภาคเอกชน ได้มีการรับฟังความคิดเห็นและความคาดหวังจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย กลุ่มธุรกิจใหญ่ๆที่มีส่วนในการขยายตลาดการลงทุนและการค้าของเราไปยังต่างประเทศ โดยภาคเอกชนมองว่า ทั้งสามหน่วยงานหลักนี้ (กต. พณ.และ BOI) มีบทบาทเป็นเหมือน "ประตูหน้าต่างของประเทศไทย" คือเป็นประตูหน้าต่างที่จะนำจุดแข็ง นำสิ่งที่ดีๆของประเทศไทย ไปให้ชาวโลกได้รับทราบ และนำสิ่งที่ดีจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทยด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่พี่น้องประชาชนชาวไทย
สรุปโดยหลักๆคือ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการทูตที่จับต้องได้ การทูตที่กินได้ การดำเนินงานการทูต ขอให้ถามตัวเองอยู่เสมอว่าจะเป็นประโยชน์อย่างไรแก่ประชาชน จะสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างไร
นอกจากนี้ ในลักษณะการทำงาน ยังมีการพูดถึงคอนเซ็ปต์ ทีมประเทศไทย ที่จะกลายเป็น Team Thailand Plus (Team Thailand+) คือบวกๆ หรือดึงภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมงานกัน จากเดิมนั้นทีมประเทศไทยคือการรวมหน่วยงานราชการไทยที่อยู่ในต่างประเทศ นำโดยเอกอัครราชทูต แต่จากคอนเซ็ปต์นี้เราจะบวกๆภาคเอกชนไทยเข้ามาร่วมในการทำงานของทีมประเทศไทยด้วย เรียกว่าเป็น "ทีมประเทศไทยพลัส" ที่จะนำความเข้มแข็งมาสู่ประเทศไทยเพิ่มเติม