บริบูรณ์ ดับเครื่องชนกรมปศุสัตว์ ปมหมูเถื่อน แฉถูกเรียกรับผลประโยชน์

08 ธ.ค. 2566 | 09:26 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2566 | 11:13 น.

บริบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บ.สมายล์ ท็อป เค อินเตอร์ไพร์ส ดับเครื่องชน กรมปศุสัตว์ แฉ โดนเรียกรับผลประโยชน์ จ่อ ฟ้องศาลปกครองกลางสัปดาห์หน้า กักมันหมู 2 ตู้ มูลค่า 2 ล้าน

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ-เปิดใจ “บริบูรณ์ ลออปักษิณ” กรรมการผู้จัดการบริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพร์ส กรณีกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ กักมันหมู-เนื้อหมู ไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนที่จะทำลายซากทั้งหมด แบ่งออกเป็นของ สินค้าเนื้อหมู จำนวน 38 ตู้ ของบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งฟ้องศาลปกครองกลางไปแล้ว มูลค่าความค่าเสียหาย จำนวน 246 ล้านบาท และ สินค้ามันหมู จำนวน 2 ตู้ มูลค่า 2 ล้านบาทของบริษัท สมายล์ ท็อป เคฯ ซึ่งเตรียมยื่นฟ้องกรมปศุสัตว์ต่อศาลปกครองในสัปดาห์หน้า     

สายสัมพันธ์กับ “ไทกร” 

นายบริบูรณ์ยืนยันชัดเจน แม้เขาจะมีความสัมพันธ์กับ "ไทกร พลสุวรรณ" บุคคลที่ปรากฎในคลิปสนทนาเคลียร์สินค้าเพื่อนำออกจากท่าเรือแหลมฉบัง ถึงขั้นปรับทุกข์-ระบายสุขได้เสมอ แต่ไม่เคยกับออกปากขอความช่วยเหลือ-เดินเรื่องให้  

“ผมกับพี่ไทกรรู้จักกัน และผมมักจะไปปรับทุกข์เรื่องความทุกข์ร้อนของผมอยู่เสมอ ส่วนเรื่องที่พี่ไทกรไปคุยกับคุณธนดล (ธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษาของร.อ.ธรรมนัส พหรมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ผมไม่ทราบ ได้ยินคลิปเสียงพร้อมๆ กับนักข่าวเหมือนกัน ตอนนี้ก็คุยกับพี่ไทกรว่าเกิดอะไรขึ้น”

นายบริบูรณ์เล่าต้นสาย-ปลายเหตุ การประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออกเนื้อสัตว์ของบริษัท ศิขัณทิน และ บริษัท สมายล์ ท็อป เค ฯ ว่า จริง ๆ ผมอาจจะตื่นเต้นไปนิดหนึ่ง ผมก็เลยพูดไปเฉพาะที่ประเทศลาว จริง ๆ ผมมีบริษัทที่กัมพูชาด้วย ตั้งใจที่จะไปจำหน่ายที่กัมพูชากับประเทศลาว แต่วันที่ผมไปดีเอสไอ ผมอาจจะประหม่า ตื่นเต้น เลยพูดไปเฉพาะประเทศลาว

นายบริบูรณ์หลีก-หลบที่จะพูดถึงบริษัท ศิขัณทิน ฯ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง แต่ขอพูดถึงเพียง บริษัท สมายล์ ท็อป เคฯ ที่เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองในสัปดาห์หน้า

“ทางฝ่ายกฎหมายของผมพยายามเน้นย้ำว่า หลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ให้ได้มากที่สุด เพราะคำสัมภาษณ์ผม บางครั้งอาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ถูกฟ้องเอง และอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดอำนาจศาลโดยไม่รู้ตัว ถ้าเป็นไปได้ขอยังไม่พูดถึงบริษัทนี้” 

นายบริบูรณ์บอกถึงสาเหตุการชะลอการยื่นฟ้องศาล เพราะก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เบื้องหลังปม ถูกกัก-กีดกัน  

นายบริบูรณ์กล่าวว่า บริษัท สมายล์ ท็อบ เคฯ นำเข้ามันสุกร ปีที่แล้วก็มีการนำเข้า 2 ตู้ที่ถูกอายัดไว้ มีการสั่งซื้อ แต่พอเรามาดูหลังจากก่อนเรือเข้า เราเห็นว่า เอ๊ะ เรือมีการถ่ายลำที่ออสเตรเลีย แล้วเขาก็ขอให้เราจ่ายค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนตู้เพิ่มขึ้น เรามองว่าผิดเงื่อนไข เพราะควรจะมาตรงจากเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ต้น แต่มีการเปลี่ยนถ่ายลำ ถึงที่สุดจะมาเก็บเงินกับเรา เราก็เลยไม่เอาดีกว่า 

เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร ผู้ขายบอกว่ามีคนที่จะซื้อที่ประเทศไทย ผมก็เลยบอกว่า ขายไปเลยแล้วกัน เราไม่เอาแล้ว ผมก็ไม่ได้ไปติดต่อ ไม่ได้ไปตามเรื่องต่อ

จนในที่สุด ผมได้รับหนังสือของกรมศุลกากรว่า สินค้า 2 ตู้นี้เป็นสินค้าที่จะต้องไปสำรวจว่าเป็นของตกค้าง ผมก็ตกใจว่า เอ๊ะ ทำไมเรายกเลิกไปแล้ว แต่ยังเป็นชื่อเราอยู่

ผมก็ถามไปยังต่างประเทศ เขาก็บอกว่า เนื่องจากคนซื้อคนใหม่ไม่จ่ายเงินเขา เขาก็เลยบอกว่าให้ผมช่วยซื้อ 2 ตู้นี้ได้ไหม ผมบอกว่า ได้ เพราะมันสุกรสามารถนำเข้าได้อยู่แล้ว ผมจึงไปขออนุญาตนำเข้ากับกรมปศุสัตว์ 

“กรมปศุสัตว์บอกว่า สินค้ามาจากออสเตรเลีย ไม่อนุญาตให้นำเข้า เพราะออสเตรเลียมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ผมก็เรียนเจ้าหน้าที่ว่า สินค้าเป็นของเนเธอร์แลนด์ สามารถนำเข้าได้อยู่แล้ว ถ้าเปิดตู้สินค้ามา สินค้าเป็นของออสเตรเลียก็ยึดไปทำลายทิ้งได้เลย ผมไม่ติดใจ เพราะผมรู้อยู่แล้วว่าสินค้าเป็นของเนเธอร์แลนด์” 

แฉปศุสัตว์เรียกรับผลประโยชน์

นายบริบูรณ์กล่าวว่า เรายื่นเข้าไปในระบบของกรมศุลกากรชัดเจนว่าสินค้าเป็นมันสุกร ที่น่าตกใจก็คือว่า เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ไปเปลี่ยนรายการสินค้าของผม จากมันหมูเป็นเนื้อหมู ทางกองสารวัตรและกักกันก็ทำหนังสือมาไม่อนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมู ผมก็เลยแย้งไปว่า ผมขอนำเข้ามันหมู ไม่ใช่นำเข้าเนื้อหมู เขาก็ตรวจสอบอีกทีและขอโทษผม เนื่องจากได้ข้อมูลผิด 

“หลังจากนั้น เขาจะอ้างสารพัดเหตุทุกอย่าง เช่น เป็นคดีพิเศษไปแล้ว เพื่อที่จะไม่ให้ผมนำเข้า ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงกีดกันผมถึงขนาดนั้น ไม่ว่าเราจะมีเหตุผลไหนไป มันจะมีเหตุผลใหม่มาหักร้างเหตุผลของผู้ประกอบการอยู่ ถ้ามีธงไม่ให้นำเข้า เขาก็จะมีสารพัดเหตุผลที่จะไม่ให้เราเอาเข้า”

นายบริบูรณ์ยอมรับว่า การทำธุรกิจกับหน่วยงานรัฐที่ผ่านมามีการเรียกรับผลประโยชน์ แต่ไม่ขอระบุรายละเอียด-เก็บไว้แจ้งกับพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ ก่อนที่พุ่งเป้าไปที่ "คู่กรณี" อย่างกรมปศุสัตว์    

“เป็นเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ แต่ผมไม่จ่ายแน่นอน”  

เบื้องลึกถูกกลั่นแกล้ง-เจ็บช้ำน้ำใจ 

นายบริบูรณ์ปักใจว่า อุปสรรคที่เกิดขึ้นจนไม่สามารถนำเข้ามันหมู-เนื้อสุกร เพราะถูกกลั่นแกลง 

“ผมกับกรมปศุสัตว์เราทำมาค้าขายกันมาต่อเนื่อง ผมค้าขายพวกซากสัตว์มา 10 ปี 20 ปี เรามีความคุ้นเคยกันดี เพิ่งจะมายุคนี้ที่อาจจะมีความเจ็บช้ำน้ำใจกับการที่ผมไปยื่นฟ้องอะไรต่าง ๆ” 

“เราจะเห็นความผิดปกติของเอกสาร เรายื่นเป็นมันหมู แต่ไปเปลี่ยนรายการเป็นเนื้อหมู เพื่อต้องการไม่ให้เราเอาเข้าประเทศ ถ้าไม่ใช่เป็นการกลั่นแกล้ง แล้วมันเป็นเพราะอะไร เป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น” 

กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด เล่าให้ฟังถึงปฐมบทที่ทำให้เกิดความระหองระแหง-กินแหนงแคลงใจในการค้าขายกับกรมปศุสัตว์จนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล 

ตั้งแต่ปี 60 รัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้นมา กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายของกรมศุลกากร มาตรา 152 กำหนดไว้ว่า เขตปลอดอากรที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานใดในการนำเข้า เป็นการออกกฎหมายเพื่อเอาใจอาลีบาบา 

“สินค้าประเภทซากสัตว์มีกฎกระทรวงหรือระเบียบอยู่ 1 ฉบับ บอกว่า สินค้าที่นำผ่านจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมกิโลฯ ละ 2 บาท 1 ตู้ 27,000 กิโลฯ ถ้าผมจะเอาหมูไปขายที่ลาว ผมจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมกรมปศุสัตว์ ประมาณ 54,000 บาท แต่เมื่อผมเห็นว่า ในเมื่อกฎหมายฉบับนี้เปิดช่องไม่ให้ผมใช้ใบอนุญาติ ผมก็ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 54,000 บาท ต้นทุนค่าใช้จ่ายผมก็ถูกลง กำไรผมมากขึ้น”

จนกระทั่งปี 61 ทางกรมปศุสัตว์ได้ทำหนังสือถึงกฤษฎีกา ว่า สินค้าซากสัตว์ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งความเห็นกฤษฎีกาตีความว่า ต้องมีใบอนุญาต

“ผมก็เป็นผู้คัดค้านและเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อปี 62 และ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติชะลอการบังคับใช้กฎกระทรวงของกรมปศุสัตว์ออกไปก่อน ผมจึงยังทำมาค้าขายต่อไป”

จนกระทั่งประมาณวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 กรมปศุสัตว์ก็กลับมาบังคับใช้ฎหมายอีก จึงกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ผมรู้สึกว่า คุณไม่ได้บอกผมล่วงหน้า ผมก็เลย เรียกว่า ฟ้องแหลก ฟ้องทุกหน่วยงาน จึงเกิดความไม่ถูกใจกัน ทะเลาะกัน และห่างกันออกมาเลย

ถูกถากถาง ไม่มีวันชนะหน่วยงานรัฐ 

นายบริบูรณ์เปิดใจว่า  ตอนนี้สมาธิในการค้าขายอะไรต่าง ๆ ไม่ค่อยมี เงินทุนเราก็หมดไปกับสินค้าที่ถูกทำลายไป และตลอดปีที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้ทำมาค้าขายอะไร รอให้คดีมีทางออก แต่เราก็มีการทำมาค้าขายเล็ก ๆ น้อย เช่น เอาพริกไปขายที่ลาวบ้าง เอากระเพาะปลาไปขายที่ลาวบ้าง ทำอะไรที่ทำให้เราพอจะดำรงชีพอยู่ได้ 

หลังจากนี้หน้าที่ของผม คือ ต้องใช้สิทธิ์ในการฟ้องศาลต่อไป เราก็ต้องใช้สิทธิ เพราะเราคงไม่อยู่เฉย ๆ เราต้องทำทุกอย่าง อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่า เราทำสิ่งที่ถูก

"ผมได้รับการเยาะเย้ยถากถางต่าง ๆ นานาว่า คุณอยู่ประเทศไทย คุณไม่มีทางชนะหน่วยงานรัฐหรอก คุณไปฟ้อง ยังไงคุณก็แพ้ แต่เราคงไม่ยอมแพ้ เราก็ต้องทำ”นายบริบูรณ์กล่าวทิ้งท้าย