เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) โดยหนึ่งในวาระสำคัญคือการพิจารณาแนวทางในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(G to G) หลังจากที่นบข.ได้ขยายเวลาการส่งมอบข้าวภายใต้สัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกับรัฐบาลจีนโดย COFCO จำนวน 1 ล้านตัน ตามที่กรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้เสนอให้มีการแก้ไขบทสัญญาครั้งที่ 8 เพื่อขยายเวลาจากให้ส่งมอบข้าวงวดสุดท้ายภายในปี 2566 เป็นให้ส่งมอบข้าวงวดสุดท้ายภายในปี 2567 เนื่องจากไทยมีข้าวคงเหลือที่ต้องส่งมอบให้ COFCO อีก 280,000 ตัน
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สัญญานี้ไม่ทราบจะนำมาขยายระยะเวลาการส่งมอบข้าวทำไม เพราะเวลานี้ราคาข้าวในตลาดโลกสูง ในอดีตไทยเคยส่งมอบข้าวขาว 5%ให้จีนในราคา 400-500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 674 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จึงมีการตั้งคำถามว่าจะเอาราคาใดมาเจรจา ถ้าจีนจะซื้อก็ให้ซื้อและส่งมอบในราคานำตลาดแบบนี้จะยอมรับได้หรือไม่
“เวลาขายข้าวแบบจีทูจี สมาชิกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่มีข้อตกลงความร่วมมือกับกรมการค้าต่างประเทศจะเป็นผู้จัดหาและปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบ ที่เกรงกันก็คือ ผู้ส่งออกไม่ได้รับซื้อข้าวในราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นควรจะล็อกว่าถ้าขายข้าวจีทูจี ก็ต้องมาซื้อในตลาดในราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นแนะนำให้ซื้อข้าวเปลือกในโครงการจากนาแปลงใหญ่นำมาสีแปรสภาพส่งให้ผู้ส่งออก เพื่อทำให้เห็นว่าโครงการนี้ปลูกแล้วได้ผล และสามารถนำไปต่อยอดขายได้ในรูปแบบจีทูจีในราคาที่ดี”
ทั้งนี้ในอดีตการขายข้าวจีทูจี รัฐบาลจะมอบหมายให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเป็นคนบริหารทั้งหมด ทั้งราคาที่มีการต่อรองแล้ว พร้อมโควตาของแต่ละบริษัทโดยให้สมาคมฯเป็นคนบริหารจัดการ กลายเป็นการแบ่งเค้กในสมาคม โดยอ้างอิงประวัติการส่งออกย้อนหลัง จากนั้นแต่ละบริษัทเมื่อได้รับโควตาแล้วก็ไปซื้อข้าวในราคาตลาด แล้วนำไปส่งมอบ ซึ่งผลประโยชน์ตกกับผู้ส่งออกโดยส่วนใหญ่ตกกับเกษตรกรส่วนน้อย พอมีคนไปแย้งหรือคัดค้าน ทางสมาคมฯก็จะอ้างเหตุผลว่ามีความเสี่ยงขาดทุน แต่ในข้อเท็จจริงไม่เคยเห็นบริษัทใดขาดทุนจากการส่งมอบข้าวจีทูจีเลย
“ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผลประโยชน์จากการขายข้าวจีทูจีตกกับชาวนายังคงขายข้าวเปลือกได้ราคาที่ดี โดยจากข้าวสารส่งมอบจีนตามสัญญายังเหลืออีก 2.8 แสนตัน ประเมินเป็นข้าวเปลือกประมาณ 5 แสนตัน ซึ่งควรระบุให้โรงสีหรือผู้ส่งออกที่มีโรงสีต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากนาแปลงใหญ่ ในราคานำตลาด เป็นการช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล ในการออกนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวนารวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เป็นรูปธรรม”
ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลจะส่งมอบข้าวจีทูจีให้กับรัฐบาลจีนในส่วนที่เหลือ และล่าสุดจะขายข้าวให้รัฐบาลอินโดนีเซียอีก 2 ล้านตัน จะต้องให้ชาวนาได้ประโยชน์ด้วย เช่น การประกันราคารับซื้อข้าวเปลือกที่ชัดเจน เป็นต้น เพราะจากนี้รัฐบาลไม่มีโครงการประกันรายได้ และมาตรการอื่น ๆ ช่วยเหลือชาวนาแล้ว เกรงราคาข้าวจะตกตํ่า ซึ่งหากไม่มีชาวนาผลิตข้าวให้ ถามว่าจะเอาข้าวที่ไหนไปส่งมอบ
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,955 วันที่ 7-10 มกราคม พ.ศ. 2567